อังกฤษเผยผลศึกษาวัคซีน 6 ตัว‘กระตุ้นได้ผล’
ผลการศึกษาจากสหราชอาณาจักรชี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 6 ชนิดใช้เป็นตัวบูสเตอร์ได้ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน ผลการทดลองเฟส 2 เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ “แลนเซ็ต” วานนี้ (2 ธ.ค.) ศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน 7 ตัวประกอบด้วย ออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์-ไบออนเทค, โนวาแวกซ์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา, วัลเนวา และเคียวแวคเมื่อใช้ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นหลังฉีดออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์-ไบออนเทคไปแล้วสองโดส ผลการศึกษาจากผู้ใหญ่อายุไม่น้อยกว่า 30 ปีจำนวน 2,878 คน พบว่า วัคซีนทั้ง 7 ไม่มีตัวใดน่ากังวลว่าไม่ปลอดภัย
ผลข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ปวด ณ จุดฉีด และพบมากในคนอายุน้อย ผู้ร่วมทดลองมีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดเข็มกระตุ้นรวม 912 คน ในจำนวนนี้มีรายงานความรุนแรง 24 รายการ
ผู้ร่วมทดลองต่างมีสุขภาพดี คัดสรรมาจาก 18 ทำเลในสหราชอาณาจักร ราวครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส ที่เหลือฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทค ผู้ร่วมทดลองราวครึ่งหนึ่งอายุเกิน 70 ปี บางคนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มควบคุมได้รับวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นเป็นวัคซีนหลอก
สี่สัปดาห์หลังจากฉีดเข็มกระตุ้น นักวิจัยวัดระดับแอนติบอดีของผู้ร่วมทดลองพบว่า วัคซีนทั้ง 7 ตัวเพิ่มภูมิคุ้มกันหลังฉีดออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าครบแล้ว 10-12 สัปดาห์ ส่วนคนที่ฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทคไปก่อน วัคซีนทดลองทุกตัวยกเว้นวัลเนวาช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้
อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยแจ้งว่า พวกเขาไม่ได้วิจัยว่า การฉีดวัคซีนไขว้เป็นเข็มกระตุ้นได้ผลแค่ไหนในแง่ป้องกันการติดต่อ เข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตจากโควิด อีกทั้งยังไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างระดับแอนติบอดีสี่สัปดาห์หลังฉีดบูสเตอร์กับภูมิคุ้มกันในระยะยาว