แซลมอนแทสเมเนีย อีกหนึ่งของดีออสเตรเลีย

แซลมอนแทสเมเนีย อีกหนึ่งของดีออสเตรเลีย

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นทางกายภาพ พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลทั้งประเทศคือ หนึ่งทวีป ไม่ต้องพูดถึงความหลากหลายทางธรรมชาติทั้งพืชพรรณและสัตว์พื้นเมือง

ด้วยเหตุนี้สินค้าจากออสเตรเลียจึงมีความโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก ผลไม้  เครื่องสำอางและแซลมอน ที่ผู้บริโภคหลายคนอาจคุ้นเคยกับแซลมอนนอร์เวย์ แต่ออสเตรเลียเขาก็มีดีไม่แพ้กัน!

“แซลมอนแทสเมเนียรสชาติดี เราอยากบอกว่า แซลมอนเราดีที่สุดในโลก แต่นอร์เวย์ก็คงอยากบอกว่าของเขาก็ดีที่สุดในโลกเหมือนกัน ทั้งสองชนิดเป็นพรีเมียมโปรดักส์เหมือนกันครับ” อัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวอย่างอารมณ์ดีกับกรุงเทพธุรกิจในงานแข่งขันทำอาหาร  Australian Embassy Cooking Competition การจัดแข่งขันทำอาหารครั้งแรกของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของวัตถุดิบอาหารจากออสเตรเลีย

Australian Embassy Cooking Competition เริ่มต้นรอบแรกในโลกออนไลน์ เปิดให้ผู้สมัครทุกสัญชาติ อายุ และเพศ ที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ส่งคลิปวิดีโอแสดงความสามารถในการปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบจากออสเตรเลียเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารจานนั้นๆ และถ้ามีแง่มุมของไทยและออสเตรเลียสอดแทรกอยู่ด้วยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ 

จากนั้นคัดผู้เข้ารอบสุดท้าย 3 คน มาแข่งขันกันภายใต้กติกา ปรุงอาหารจากกล่องวัตถุดิบปริศนา มีทั้งที่บังคับและไม่บังคับให้ต้องใช้ ผู้ผ่านเข้ารอบมีเวลา 45 นาทีในการรังสรรค์อาหารจานพิเศษให้กับคณะกรรมการอันประกอบด้วยทูตแมคคินนอน,  เชฟเอียน กิตติชัย พิธีกรรายการโทรทัศน์ เจ้าของร้านอาหาร และศิษย์เก่าออสเตรเลีย, Chris Miller จากโรงแรม The Standard Mahanakorn และ James Bradbury หัวหน้าฝ่าย Minor Food Innovation Team (MFIT) Minor Food Group 

การให้คะแนนพิจารณาจากรสชาติ การนำเสนอ และความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนว่าวัตถุดิบที่บังคับให้ใช้ก็คือ "แซลมอนแทสเมเนีย"   เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รู้จักกันมากขึ้น นำไปปรุงอาหารที่ถูกปากคนไทยได้หลากหลายเมนู ปรุงแล้วเป็นอย่างไรต้องถามจากผู้ร่วมแข่งขัน เริ่มต้นจากผู้ชนะ อภิสิทธิ์ จิตประสงค์ นักศึกษาพิษวิทยา และโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นฟู้ดทาเลนท์ที่วงใน และเป็นฟู้ดคอนซัลท์ที่แบรนด์ส่งออกแซลมอนแบรนด์หนึ่ง เจ้าตัวเผยว่า ตอนที่ยังไม่ได้กล่องวัตถุดิบปริศนาก็นึกว่าจะได้เนื้อแพลนท์เบสอันเป็นที่นิยมในตอนนี้ หรือเนื้อวัวแองกัสที่ออสเตรเลียก็ขึ้นชื่อ

“ความแตกต่างของแซลมอนแทสเมเนียกับแซลมอนที่อื่น อยู่ที่สัมผัสและความนุ่ม แซลมอนจากบางที่มีความมันเยอะกว่า มีความแน่นมากกว่า แต่แซลมอนที่นี่พอดีๆ รับประทานง่าย ส่วนตัวคิดว่าคนไทยชอบอะไรที่ต้องเคี้ยว ถ้าเนื้อเฟิร์มแบบนี้คิดว่าคนไทยจะติดใจ" อภิสิทธิ์ เผยความรู้สึกเมื่อได้ปรุงวัตถุดิบพิเศษ 

อธิป สโมสร ผู้ร่วมแข่งขันที่มากับเมนูผัดไทยไชยา และกอและแซลมอน เล่าว่า ตอนแรกเดาว่า วัตถุดิบปริศนาคงเป็นจิงโจ้ หรือจระเข้  พอเจอแซลมอนเข้าก็งง เหมือนกัน แม้ตนไม่ค่อยได้ทำอาหารประเภทแซลมอนแต่จากประสบการณ์ที่เคยรับประทานก็นำมาปรุงกับสูตรที่เตรียมมาได้ 

“คนไทยก็ชอบแซลมอนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแซลมอนดองซีอิ๊ว หรือแซลมอนดองน้ำปลาก็เป็นที่นิยมกัน”

ส่วน ณภัสนันท์ ฉัตรชยาลดาสิริ ผู้แข่งขันหญิงเดียวในรายการ ทำแซลมอนแทสเมเนียกับข้าวซอย นำเสนอความเป็นไทยผสมออสเตรเลีย นำแซลมอนออสเตรเลียมาย่าง เสิร์ฟกับซอสข้าวซอย มีกลิ่นอายของความเป็นมัสมั่นด้วย ข้างๆ มีอาจาดที่พลิกแพลงจากใส่แตงกวาเป็นใส่สับปะรดเนื่องจากเป็นสินค้าที่คนไทยปลูกเยอะ 

“เวลารับประทานจะได้รสความเป็นแกงกะหรี่ ข้าวซอย ตบท้ายด้วยความเปรี้ยวหวานจากอาจาด เสิร์ฟกับก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งเปาะเปี๊ยะเกาะอยู่บนแซลมอน ทำให้มีรสชาติ มี texture ของความกรุบกรอบ” เชฟสาวบรรยายถึงเมนูพิเศษ พร้อมความโดดเด่นของแซลมอนแทสเมเนียในทัศนะของเธอ 

"ส่วนตัวเคยอยู่ออสเตรเลียมาก่อน ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าสินค้าคุณภาพดี จากแหล่งมหาสมุทร เวลาทำอาหาร รู้สึกว่าเนื้อค่อนข้างดีมาก ทำไม่ยากด้วยค่ะ แนะนำสำหรับคนที่ทำอาหารรับประทานเองว่าต้องลองเนื้อดีคือ สด ไม่คาว มั่นใจว่าถูกปากคนไทย คุณภาพอยู่ในระดับบน" 

นั่นคือ ประสบการณ์จาก 3 เชฟรุ่นใหม่ที่ต้องปรุงแซลมอนแทสเมเนีย แบบไม่ทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ด้วยฝีมือและคุณภาพวัตถุดิบทำให้ทุกคนรังสรรค์อาหารออกมาได้กลมกล่อม สอดแทรกความเป็นไทยเข้ากับออสเตรเลียในบริบทสากล หากว่ากันเรื่องคุณภาพแซลมอนแทสเมเนียไม่เป็นสองรองใคร แต่ราคาถูกกว่าที่อื่นเพราะระยะทางที่ใกล้กว่าระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคนำมาดัดแปลงทำอาหารได้หลากหลาย ประยุกต์กับเมนูไทยได้ง่ายขึ้นเหมือนอย่างที่ 3 เชฟทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เห็นแบบนี้เข้าครัวมื้อต่อไปคงต้องฝากฝีมือกับแซลมอนแทสเมเนียกันบ้างแล้ว 

 

พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์