เหตุผลที่ "โดเนตสก์-ลูฮันสก์" สำคัญต่อยุทธการฟื้นอิทธิพล "รัสเซีย"
ส่องเหตุผลที่ “โดเนตสก์” และ “ลูฮันสก์” 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครน เป็นหัวใจสำคัญในยุทธการกระชับอำนาจในยุโรปตะวันออกของ “ปูติน” ผู้นำรัสเซีย หลังประกาศรับรองเอกราชให้ 2 แคว้นดังกล่าว
ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเขม็งเกลียวหนักขึ้น เมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ประกาศรับรองสถานะสาธารณรัฐให้กับ “โดเนตสก์” และ “ลูฮันสก์” 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งอยู่ในการควบคุมของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินแถลงผ่านโทรทัศน์รัสเซียเมื่อวันจันทร์ (21 ก.พ.) ว่า รัสเซียจะส่ง “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ไปยังสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ทำให้สหรัฐและสหภาพยุโรปวิตกกังวลว่า รัฐบาลมอสโกเตรียมเข้าควบคุมดินแดนที่นานาชาติยอมรับว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของยูเครน”
- ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย -
ที่ผ่านมา รัสเซียปฏิเสธมาโดยตลอดว่ามีแผนโจมตียูเครน และปูตินเองก็บอกว่า รัสเซียไม่ได้พิจารณาผนวกรวมดินแดนทางตะวันออกของยูเครนด้วย
- อ่านเพิ่มเติม: รู้จัก ‘สงครามลูกผสม’ รัสเซียเล่นงานยูเครน 8 ปี
อย่างไรก็ตาม คำสั่งของปูตินถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในแคมเปญ 20 ปีของเขา ในการกอบกู้อิทธิพลของรัสเซียเหนือเหล่าประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต และป้องกันไม่ให้เพื่อนบ้านเหล่านี้ปันใจไปกระชับความสัมพันธ์กับตะวันตก
สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์คืออะไร
โดเนตสก์และลูฮันสก์ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียเป็นหลัก เคยเป็นที่รู้จักในฐานะยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของยูเครน ด้วยการเป็นแหล่งทำเหมืองและแหล่งผลิตเหล็ก เช่นเดียวกับมีถ่านหินสำรองมหาศาล
กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลัง เข้าควบคุมพื้นที่บางส่วนใน 2 แคว้นนี้ตลอดแนวชายแดนยูเครน-รัสเซีย หลังจาก “เปโตร โปโรเชนโก” ประธานาธิบดีฝักใฝ่เครมลินของยูเครนถูกโค่นลงจากอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับเหตุการณ์รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียที่เคยเป็นของยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนในปี 2557
ข้อมูลทางการระบุว่า การสู้รบครั้งนั้นระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มกบฏในภาคตะวันออก คร่าชีวิตผู้คนไปราว 14,000 ราย และทำให้ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยอีกกว่า 1.4 ล้านรายในยูเครน
กลุ่มกบฏครองพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของทั้งสองแคว้น และเรียกดินแดนที่ตัวเองยึดครองว่า “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์” และ “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์” แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีประเทศใดรับรองสถานะของทั้งสองแคว้น นอกเหนือจากรัสเซีย
มีรายงานระบุว่า รัสเซียคอยให้การสนับสนุนทางการเงินและทางทหารนับตั้งแต่กลุ่มกบฏก่อตั้งเขตปกครองของตน และยังอนุมัติหนังสือเดินทางรัสเซียแก่ประชาชนหลายแสนคนใน 2 พื้นที่นี้ด้วย
เหตุใด 2 แคว้นนี้ถึงกำลังถูกจับตา
รัสเซียต้องการให้โดเนตสก์และลูฮันสก์ ได้อำนาจปกครองตนเองซึ่งจะทำให้ทั้งสองแคว้นมีอำนาจ “วีโต” (veto) หรืออำนาจในการยับยั้งความเปลี่ยนแปลงสำคัญใด ๆ ของยูเครน ในกรณีที่ยูเครนหันไปเข้าพวกกับตะวันตก โดยอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่จาก 41 ล้านคนของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หมากเกมนี้อาจกลายเป็นการ “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” ของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งกำลังดิ้นรนฟื้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและจัดการปัญหาการทุจริต
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวกับบรรดานักการทูตว่า ยูเครนต้องการ “มุมมองที่ชัดเจนอย่างมาก” เกี่ยวกับสถานะการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ “นาโต” (NATO)
ด้าน เจนส์ สโตเลนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ยืนยันว่า กลุ่มนาโตยังคงสนับสนุนความพยายามของยูเครนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก
ทำไมตะวันตกให้ความสนใจประเด็นนี้
หากคำเตือนของสหรัฐที่ว่ารัสเซียบุกยูเครนเป็นเรื่องจริง จะถือเป็นวิกฤติความมั่นคงในยุโรปครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชนิดที่ความตึงเครียดเมื่อครั้งที่ปูตินเข้ายึดครองคาบสมุทรไครเมียในปี 2557 และการสู้รบก่อนหน้านี้ในภาคตะวันออกของยูเครน ไม่อาจเทียบติดได้
ด้านรัฐบาลสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร กำลังตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับชุดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม หากรัสเซียบุกยูเครนขึ้นมาจริง ๆ
คาดว่ามาตรการใหม่ที่อาจนำมาใช้กับรัสเซียนั้น อาจรวมไปถึงการคว่ำบาตรพุ่งเป้าบรรดามหาเศรษฐีพันล้าน การเพิ่มข้อจำกัดด้านโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล การห้ามใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือการสกัดโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ชื่อ “นอร์ด สตรีม 2” ที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี
นอกจากนี้ กลุ่มชาติตะวันตกได้ลงทุนเม็ดเงินมหาศาลไปกับความสำเร็จของยูเครน ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เสนอการสนับสนุนทางเงินแก่ยูเครน เช่นเดียวกับธนาคารโลกและอียูได้ให้เงินช่วยเหลือมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และสหรัฐก็ออกตัวค้ำประกันเงินกู้ระหว่างประเทศและให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลเคียฟด้วย
---------
อ้างอิง: Bloomberg, Washington Post