ดาวโจนส์พลิกกลับปรับตัวขึ้น 139.92จุดแม้สหรัฐเผยตัวเลขจ้างงานต่ำกว่าคาด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์ (1เม.ย.)พลิกกลับปรับตัวขึ้น 139.92 จุดแม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายถูกกดดันจากการปรับตัวลงของดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายถูกกดดันจากการปรับตัวลงของดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ และการที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว และบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น139.92 จุดหรือ 0.40% ปิดที่ 34,818.27 จุดหลังจากการซื้อขายช่วงแรกดิ่งลงไปกว่า100 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 ปรับตัวขึ้น 0.34% ปิดที่ 4,545.86 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 0.29% ปิดที่ 14,261.50 จุด
อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 500 จุดวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
เมื่อพิจารณาการปรับตัวของ ตลาดหุ้นสหรัฐ ในไตรมาส 1/65 พบว่า ดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 ดิ่งลง 4.5% และ 4.9% ตามลำดับ ขณะที่ Nasdaq ทรุดตัวลงกว่า 9% ซึ่งเป็นการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของดัชนีทั้ง 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งขณะนั้นโควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐ
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 57.1 ในเดือนมี.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีดีดตัวสู่ระดับ 59.0 จากระดับ 58.6 ในเดือนก.พ.
ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ ท่ามกลางภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน หลังรัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้ปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.626% ในวันนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.576% โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวอยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.448% ขณะที่พันธบัตรอายุ 30 ปีอยู่ที่ระดับ 2.536%
นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้
ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในอีกเพียงไม่กี่ปีถัดมา
ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%