ทำความรู้จักระบบ “เลือกตั้งฝรั่งเศส” แบบเข้าใจง่าย

ทำความรู้จักระบบ “เลือกตั้งฝรั่งเศส” แบบเข้าใจง่าย

ฝรั่งเศสใช้การเลือกตั้งแบบ 2 รอบ แม้จะได้คะแนนนำในรอบแรกแต่ก็ยังไม่ได้การันตีว่าจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งผลคะแนนรอบแรกนายเอ็มมานูแอล มาครง ผู้นำคนปัจจุบันคงได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่ง

หลังจากปิดหีบเลือกตั้งฝรั่งเศส ในวันอาทิตย์ที่ 10 เม.ย. นายเอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน วัย 44 ปี ได้ 9,560,545 คะแนน หรือ 27.6% จากพรรคการเมืองการเมืองสายกลาง หรือ ลา รีพุบลิก ออง มาร์ช (La République en Marche) ถือว่าเป็นผู้นำฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 20 ปี ชนะการเลือกตั้งต่อในสมัยที่ 2

ตามมาด้วยนางมารีน เลอ แปน จากพรรคเนชันแนล แรลลี (National Rally) ได้ 8,109,857 หรือ 23.4% และนายฌอง-ลุค เมลองชอง (Jean-Luc Mélenchon) จากพรรค ลา แฟรงก์ อินซูมิส (La France Insoumise) ได้ 7,605,225 หรือ 22%

แม้ว่านายเอ็มมานูแอล มาครง จะได้คะแนนนำมาเป็นที่ 1 แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริง เนื่องจากต้องเข้าไปต่อสู้กับผู้สมัครที่เหลือในการเลือกตั้งรอบสอง

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครทั้งหมด 12 คน หากผู้สมัครคนใดต้องการชนะตั้งแต่รอบแรก ต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า 50% และคณะกรรมการการเลือกตั้งของฝรั่งเศสจึงกำหนดวันลงคะแนนรอบตัดสิน ระหว่างผู้สมัครที่งมีคะแนนมากที่สุดสองอันดับแรก ในวันที่ 24 เม.ย.นี้

เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของฝรั่งเศสเป็นการเลือกตั้งแบบสองรอบ วันนี้กรุงเทพธุรกิจจะพาไปทำความรู้จักกับกระบบการเลือกตั้งของฝรั่งเศสในรูปแบบที่เข้าใจง่าย

ทำความรู้จักระบบ “เลือกตั้งฝรั่งเศส” แบบเข้าใจง่าย นายเอ็มมานูแอล มาครง ภาพจาก AFP

  • ทำความรู้จักระบบการเลือกตั้งสองรอบ

การที่จะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ต้องมีรายชื่อสนับสนุนจากนักการเมืองที่ถูกเลือกจากประชาชน (นายกสภาท้องถิ่น, สภาชิกสภายุโรป, ส.ส., ส.ว. ฯลฯ) ทั้งหมด 500 รายชื่อ เพื่อเป็นการรับรองผู้สมัครว่า มีความสามารถมากพอในการเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่ง 500 รายชื่อที่สนับสนุนจะต้องมาจาก 30 จังหวัดทั่วประเทศ แสดงถึงการได้รับการยอมรับจากทุกภาค

ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ความเป็นประธานาธิบดีนั้นน่าเชื่อถือและมีน้ำหนัก มีบทบาทของการเป็นประมุขที่แท้จริง และเมื่อได้มาแล้วก็ต้องส่งรายชื่อต่อให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส (หากเป็นเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการฯ) ตรวจสอบว่ารายชื่อ 500 รายครบถ้วนหรือไม่ มาจากทั้ง 30 จังหวัดหรือไม่

หลังจากตรวจสอบแล้วถึงจะประกาศว่าใครสามารถสมัครเข้าชิงตำแหน่งได้ วิธีการเลือกตั้งโดยตรงจึงทำให้สถานะของประธานาธิบดีฝรั่งเศสเข้มแข็งมาก โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีฝรั่งเศส 5 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ

ทำความรู้จักระบบ “เลือกตั้งฝรั่งเศส” แบบเข้าใจง่าย นางมารีน เลอ แปน ภาพจาก AFP

  • เหตุใดต้องเลือกตั้งสองรอบ

วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในตำแหน่งประมุขของรัฐ จะผ่านการเลือกตั้งโดยตรง และจัดขึ้นสองรอบ โดยประชาชนออกไปเลือกตั้งผู้แทนที่เขตเลือกตั้งทั่วไป เลือกผู้สมัครที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ได้ผ่านคนกลางเหมือนสหรัฐอเมริกา ประเด็นสำคัญที่ต้องใช้ระบบการเลือกตั้งสองรอบ เพราะต้องการให้เสียงที่ลงคะแนนให้ประธานาธิบดี สะท้อนเสียงและเป็นตัวแทนจากการเลือกของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยรอบแรกใช้วิธีการ "Absolute Majority" คือต้องได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง (มากกว่า 50%) จึงจะได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว เพราะการมีผู้สมัครมากถึง 12 คน ทำให้คะแนนเสียงกระจาย พอรอบสองก็คัดสองคนที่ได้คะแนนสูงสุดจากรอบแรกมาแข่งกัน ใช้วิธี "Simple Majority" คือเลือกตั้งแบบธรรมดา เสียงข้างมากเกิน 50% ก็จะชนะ

  • ข้อดีและข้อเสียของระบบการเลือกตั้งสองรอบ

ข้อดีก็คือทำให้ได้ประธานาธิบดีที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนจำนวนมาก มีน้ำหนักมีความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือ ไม่เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบอื่น ที่หลายครั้งคนที่ได้ลำดับที่ 1- 3 มีคะแนนเสียงต่างกันเพียงเล็กน้อย ส่วนข้อเสียอย่างแรกก็คือสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะการเลือกตั้งลักษณะนี้ต้องจัดสองรอบเพื่อแลกมาซึ่งความชอบธรรมและเสียงของประชาชน ข้อที่สองก็คือคือประชาชนอาจเบื่อหน่าย เพราะต้องออกไปเลือกตั้ง 2 รอบในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ รวมถึงยังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ตลอด

  • รู้จักโครงการทางการเมืองของฝรั่งเศส

ปัจจุบันฝรั่งเศสใช้รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 หรือรัฐธรรมนูญ 1958 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาแก้ปัญหาและเพิ่มบทบาทอำนาจให้ประธานาธิบดีมากขึ้น เป็นระบอบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา รัฐสภาแห่งประเทศฝรั่งเศส แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เหมือนกับประเทศไทย

โดยมีประธานาธิบดีใช้อำนาจบริหารร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งมา คณะรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีสามารถถูกถอดถอนได้จากสภาผู้แทนราษฎร หรือ สภาล่าง โดยการลงมติไม่ไว้วางใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีจะต้องผ่านการสนับสนุนโดยเสียงส่วนมากของรัฐสภา

ในส่วนของรัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ผ่านร่างกฎหมายและงบประมาณ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ผ่านทางการถามกระทู้สดในรัฐสภา โดยมีสภารัฐธรรมนูญ (Conseil Consitutionnel) มีหน้าที่รับรองให้บทบัญญัติต่าง ๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

โดยสมาชิกสภารัฐธรรมนูญ จะได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา อนึ่ง อดีตประธานาธิบดียังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภารัฐธรรมนูญด้วย ในส่วนระบบตุลาการ เป็นแบบระบบกฎหมายที่สืบทอดจากประมวลกฎหมายนโปเลียน แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ศาลแพ่งและอาญา  และศาลปกครอง โดยแต่ละฝ่ายจะมีศาลสูงสุด คือ ศาลยุติธรรมสูงสุด สำหรับคดีความทางแพ่งและอาญา และศาลปกครองสูงสุด

สำหรับคดีด้านปกครอง โดยรัฐบาลฝรั่งเศสรวมถึงหน่วยงานและองค์กรอิสระอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกหลายทางด้วย นอกจากนี้ประเทศฝรั่งเศสมีการปกครองแบบรัฐเดี่ยว และแบ่งการปกครองย่อยเป็นแคว้น จังหวัด และเทศบาล ซึ่งจะมีขอบเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นของตัวเองทั้งด้านการคลังและงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแทรงได้

ทำความรู้จักระบบ “เลือกตั้งฝรั่งเศส” แบบเข้าใจง่าย นายฌอง-ลุค เมลองชอง ภาพจาพ AFP

อ้างอิงข้อมูล : Bonjour France’s Election เลือกตั้งฝรั่งเศสแบบเข้าใจง่าย กับผศ.ดร. วรรณภา ติระสังขะ

French elections: Macron and Le Pen to fight for presidency