"ข้าวเหนียวมะม่วง" Soft power "ไทย" ติดหนึ่งใน 50 ขนมยอดนิยมโลก
ดังมานานแล้ว “ข้าวเหนียวมะม่วง” ขนมหวานไทยที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจละมุน (Soft Power) สร้างความเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับที่เสริฟบนสำรับอาหารในภัตตาคารดังทั่วโลก ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย
สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำ กรุงวอชิงตัน รายงานว่า ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดอันดับอาหารและขนมยอดนิยมระดับโลก โดยได้ยกย่องให้ ข้าวเหนียวมะม่วง และ ขนมทับทิมกรอบ เป็นขนมหวานไทย 2 เมนูดังที่ติดรายชื่อ 50 อันดับแรก เมื่อปี 2562 และหลังจากนั้นเมนูขนมไทยนี้ก็เลื่องชื่อลือชา เมื่อนึกถึงข้าวเหนียวมะม่วงทีไรก็ต้องคิดถึง “ประเทศไทย”
นี่คือเหตุผลว่า ทำไมขนมทั้งสองชนิดนี้ถึงมักเสริฟอยู่บนโต๊ะคู่กับเมนูอาหารไทย จนกลายเป็นเมนูที่ใครหลายคนนึกถึงเพื่อสั่งมารับประทานกับคนรู้ใจ ครอบครัวและเพื่อนฝูง
ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่า มะม่วงสุกที่ถูกหั่นชิ้นพอคำ วางบนจานคู่กับข้าวเหนียวมูนที่นุ่มลิ้นเป็นหนึ่งใน "ของหวานที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก" แล้วรู้หรือไม่ว่า กว่าจะได้ข้าวเหนียวมะม่วงในตำนานสักหนึ่งจานต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง
กว่าจะได้ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมหวานดั้งเดิมนี้สักจาน เริ่มแรกต้องมีข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู ซึ่งพืชประจำถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการปลูกข้าวเหนียวก็ต้องเป็นไปตามฤดูกาลถึงจะให้รสชาติดี โดยขั้นตอนการหุงข้าวเหนียวมูนนี้ก็เป็นเอกลักษณ์แท้แบบไทย นอกจากนี้จะต้องมีหัวกะทิเข้มข้นและน้ำตาลปี๊บที่เคี้ยวจนเข้ากัน เติมเกลืออีกนิดหน่อยสำหรับราดบนข้าวเหนียวมูน เสริฟคู่กับมะม่วงสุก
ข้าวเหนียวมะม่วงที่อร่อยแท้จริง ก็ต้องรับประทานคู่กับมะม่วงพันธุ์แท้ของไทย มีมะม่วงสองพันธุ์หลักที่โปรดปราน มีให้เลือกระหว่าง “มะม่วงน้ำดอกไม้” มีผลสีเหลืองและรูปทรงโค้งมน หรือจะเป็น “มะม่วงอกร่อง” ผลมีขนาดประมาณกำมือ มีกลิ่นหอมหวาน แม้รสชาติแตกต่าง แต่ก็สร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับประทานไม่รู้ลืม
สำหรับคนจีนแล้ว ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารขึ้นเหลา และได้รับความนิยมรองลงมาจาก "ทุเรียน" ที่มีศักยภาพไปตีตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตลาดจีน “มะม่วง” เป็นอีกหนึ่งผลไม้ไทย ทั้งคนจีนและชาวต่างชาติจากประเทศอื่นๆ ติดอกติดใจเวลามาเที่ยวเมืองไทย
ข้อมูลจากโลกโซเชียลจีนทั้งเวยป๋อ และบนไป่ตู๋ แพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของคนจีน พบว่า เมื่อคนจีนค้นหาและเขียนถึงคำที่เกี่ยวข้องกับเที่ยวเมืองไทย พบว่า กลุ่มช่วงอายุที่พูดถึงมากที่สุด ได้แก่ 30-39 ปี รองลงมาคือ 40-49 ปี อันดับสาม 50 ปีขึ้นไป ส่วนอายุ 29 ปีลงไป เป็นกลุ่มท้ายสุด ซึ่งคำภาษาจีนที่แปลเป็นไทยว่า มะม่วง ทุเรียน และข้าวเหนียว เป็นหนึ่งในสามคำหลักของคำที่เกี่ยวข้องเมื่อพูดถึงเที่ยวเมืองไทย และเมื่อวิเคราะห์ลงลึกไปอีกทำให้ได้รู้ว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนจีนเวลามาเที่ยวไทย มักจะสั่งเมนู “ข้าวเหนียวมะม่วง” และ “ข้าวเหนียวทุเรียน” เสมอ
เมื่อค้นหาคำว่า ข้าวเหนียวมะม่วงบนแพลตฟอร์มเสี่ยวหงซู เป็นสังคมออนไลน์ยอดนิยมในสายไลฟ์สไตล์และการรีวิว ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งานหลักคือ กลุ่มผู้หญิงจีน จะเห็นได้เลยว่า ข้าวเหนียวมะม่วงไทย เป็นหนึ่งในคำแนะนำที่ทางระบบแนะนำขึ้นมาเมื่อทำการค้นหา โดยจะเลือกจากคำที่ผู้ใช้งานนิยม ดังนั้นจะเห็น “ข้าวเหนียวมะม่วงไทย” เป็นหนึ่งในภาพจำที่คนจีนจะนึกถึงประเทศไทย อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ปัจจุบันที่ประเทศจีนยังฮิต “น้ำมะม่วงไทย” เกิดจากผู้ประกอบการในจีนรายหนึ่งจับกระแสความนิยมในหมู่คนจีนสนใจ “ไทยแลนด์ฟีเวอร์” เลยดึงจุดเด่นของไทย นั่นคือ ผลไม้ และเลือกเอา “มะม่วง” มาเป็นพระเอก ถ้าจะขายมะม่วงอย่างเดียวก็ดูจะธรรมดาไป จึงทำให้เป็น “น้ำมะม่วงปั่น” และแต่งหน้าด้วยท็อปปิ้งด้วยมะม่วงเหลืองชิ้นใหญ่ๆ แล้วตั้งชื่อร้านให้เป็นจุดเด่นชื่อ "ไท่หมางเลอ" แปลเป็นไทยคือ “ฉันยุ่งมาก” เป็นการเล่นคำพ้องเสียง ทั้งสองคำอ่านออกเสียงไท่หมางเลอ เหมือนกัน แต่คำแรกตัวอักษรไท่มาจาก “ไท่กั๋ว” ที่แปลว่าประเทศไทย และ “หมาง” มาจากคำว่ามะม่วง
ส่วนตัวอักษรสองตัวแรกจึงสื่อถึง “มะม่วงไทย” แต่พอเขียนคำภาษาไทยให้ดูมีเอกลักษณ์ว่า นี่คือร้านขายสินค้าไทย แล้วเขียนออกมาว่า ยุ่งมากมาก เพื่อทำให้ร้านดูน่าสนใจ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว