“วาฬหัวทุย” วาฬมีฟันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
รู้จักวาฬหัวทุยกันหรือยัง ..ถ้ายัง ตามวาฬแกลบไปได้เลย!
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่ทราบว่าที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างประเทศอินโดนีเซียได้มีการพบวาฬหัวทุยเกยตื้นถึง 10 ตัว ซึ่งการเกยตื้นนี้เรียกว่าการเกยตื้นแบบหมู่ หรือ Mass stranding โดยทางทีม Whale stranding Indonesia, WWF, ประชาชนและหน่วยงานของประเทศอินโดนีเซียได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือวาฬ ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้ถึง 6 ตัว แต่ยังมีอีก 4 ตัวที่ต้องมาจบชีวิตในการเกยตื้นครั้งนี้
ก่อนอื่นเรามารู้จักพี่วาฬชนิดนี้ดีกว่า ถ้าใครคิดภาพไม่ออกว่าวาฬชนิดนี้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร อยากให้ลองหาหนังเรื่อง Mobidick มาดู เพราะพี่วาฬหัวทุยก็คือวาฬที่ถูกล่าเพื่อนำเอาไขวาฬมาใช้ในสมัยอดีต
วาฬหัวทุยเป็นวาฬมีฟันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวเต็มวัยสามารถยาวได้ถึง 18 เมตรหนักถึง 25 ตันเลยทีเดียว ที่ได้ชื่อว่าวาฬหัวทุยนี่ได้มาจากรูปร่างหน้าตาของพี่เขานี่แหละ พี่เขามีโหนกหัวซึ่งเป็นก้อนไขมันที่ใหญ่
โหนกหัวนี้เป็นส่วนประกอบของ melon และ spermaceti organ ซึ่งช่วยในการดำน้ำหรือลอยตัว และเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษของวาฬหัวทุย หรือ Sperm whale นั่นเอง
ผิวหนังของพี่วาฬหัวทุยนั้นแตกต่างจากโลมา เพราะผิวของวาฬหัวทุยจะขรุขระไม่เรียบลื่นเหมือนผิวหนังโลมา ญาติสนิทของวาฬหัวทุยมีอยู่อีก 2 ชนิด ก็คือ วาฬหัวทุยเล็ก (Pygmy sperm whale) และวาฬหัวทุยแคระ (Dwarf sperm whale) ซึ่งญาติ 2 ตัวนี้ขนาดเล็กกว่ามาก โดยวาฬหัวทุยเล็กโตเต็มวัยยาวประมาณ 3.4 เมตร
ส่วนเจ้าวาฬหัวทุยแคระโตเต็มวัยยาวเพียง 2.7 เมตร ซึ่งในกลุ่มของวาฬกลุ่มนี้คือ รูหายใจจะเบ้ไปทางซ้ายและจะมีฟันเฉพาะกรามล่างเท่านั้น โดยกรามล่างจะเรียวเล็กมาก
วาฬหัวทุยเป็นวาฬที่มีสมองที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว เพราะฉะนั้นอาหารของมันก็เป็นสัตว์ที่ฉลาดไม่แพ้กันนั่นก็คือ หมึกยักษ์
หมึกที่ว่านี้ยาวได้ถึง 4 เมตรเลยทีเดียว โดยหมึกนี้จะอาศัยในน้ำลึก ทำให้พี่วาฬหัวทุยได้อันดับที่ 2 ของวาฬที่ดำน้ำได้ลึกที่สุดในโลก (รองมาจากวาฬคูเวียร์เท่านั้น) กระดูกซี่โครงของวาฬหัวทุยจะมีความยืดหยุ่นมากซึ่งจะทำให้ทนต่อแรงดันน้ำที่ใต้ทะเลลึกได้
นอกจากนี้วาฬหัวทุยยังเป็นวาฬเพียงชนิดเดียวที่สร้างแอมเบอร์กริด (Amber grid) หรืออำพันทะเลได้ ที่เค้าขายไปทำหัวน้ำหอมกันนั่นเอง
สำหรับการเกยตื้นที่ประเทศอินโดนีเซียนั้นต้องขอชื่นชมทีมงานเป็นอย่างมาก ที่ช่วยเหลือวาฬขนาดใหญ่ให้รอดได้ถึง 6 ตัว ซึ่งเป็นงานใหญ่และหนักไม่ใช่เล่น แต่น่าเสียดาย เพราะวาฬที่ตายไม่ได้มีการผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตาย ทำให้เราไม่อาจทราบได้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้วาฬหัวทุยฝูงนี้มาเกยตื้น
จริง ๆ แล้วการผ่าชันสูตรนั้นนอกจากจะหาสาเหตุการตายได้แล้ว เราสามารถใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือสัตว์ในธรรมชาติ ใช้ในการประเมินสภาพสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ข้อมูลทางชีววิทยา การเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ในอนาคตต่อไป
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทีม Whale stranding Indonesia เป็นอย่างมาก ที่แชร์ทั้งข้อมูลและรูปภาพสวยๆ มาให้