นอนกรน สัญญาณอันตรายของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การนอนถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสิ่งหนึ่งในชีวิต เพราะทุก ๆ วันเราจะมีการนอน ⅓ ของวัน หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากในช่วงการนอนหลับของเรานั้นไม่มีประสิทธิภาพหรือมีปัญหา เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับ การตื่นมาแล้วไม่สดชื่นหรือปวดหัว หากปล่อยไว้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่คอยบั่นทอนสุขภาพ ดังนั้นคุณจึงควรหมั่นสังเกตว่าการนอนหลับของตัวเองและคนที่คุณรักในทุก ๆ คืนนั้นมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด
โดยอาการนอนกรนเป็นสัญญาณเบื้องต้นหนึ่งที่พบได้บ่อยมากของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยอาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่ามีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนอนหลับ ซึ่งภาวะนี้อันตรายกว่าที่เราคิด โดยอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อัมพฤกษ์และอัมพาต ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ความจำเสื่อม การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ โดยทำให้ผู้ป่วยมักง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทั้งที่นอนเพียงพอ เกิดปัญหาการเรียนหรือประสิทธิภาพการทำงานตกต่ำ เกิดปัญหาทางครอบครัวหรือสังคม และมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนปกติ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับนี้ สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ และจะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และพบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติหรือภาวะอ้วน หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น คางเล็ก คางสั้น คอสั้น ขากรรไกรเล็ก เป็นต้น รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ด้วยเช่นกัน
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่
- นอนกรนเสียงดัง
- ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น
- สะดุ้งตื่นตอนนอน
- ง่วงตอนกลางวัน ทั้งที่นอนเพียงพอ
- วูบหลับไม่รู้ตัว
- นอนขากระตุก กัดฟัน ละเมอ ฝันร้าย
โดยปกติแล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สังเกตถึงความปกติได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่พบความผิดปกติมักจะเป็นคนใกล้ชิด ดังนั้นหากคุณหรือคนที่คุณรักมีอาการนอนกรนดังมากเป็นประจำ คุณจึงควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
การตรวจวินิจฉัย
สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ซึ่งจะเป็นการตรวจวัดการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ ด้วยเครื่อง Polysomnography เพื่อค้นหาความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจขณะหลับและการนอนกรน เป็นต้น หรือสามารถทำแบบแบบทดสอบเพื่อเช็กความเสี่ยงด้านการนอนของคุณได้ที่นี่ : https://princ.wispform.com/00979aed
แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรง รวมถึงสาเหตุต้นตอ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
- การดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น ได้แก่
- การปรับสุขอนามัยในการนอนหลับ เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ
- งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ประสิทธิภาพในการนอนหลับแย่ลง อีกทั้งยังกดการหายใจ ทำให้มีอาการกรนมากยิ่งขึ้น
- การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติหรือภาวะอ้วน โดยต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือคลายกล้ามเนื้อ เพราะยาประเภทนี้จะกดการหายใจ ทำให้มีอาการกรนมากยิ่งขึ้น
- งดเว้นการดื่มชา กาแฟ และหยุดสูบบุหรี่
- การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (CPAP) ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย โดยเครื่องมือนี้จะเป่าลมผ่านท่อสายยางผ่านทางช่องจมูกหรือทางปาก เพื่อเปิดขยายและถ่างทางเดินหายใจส่วนต้นไว้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตีบแคบขณะนอนหลับ โดยเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจะมีการปรับแรงดันที่แตกต่างกันให้เหมาะสบกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อลดภาวะหยุดหายใจขณะหลับและการนอนกรน
- การใส่เครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance) คือการใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องมือดัดฟัน เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ สำหรับวิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยรายที่ไม่มีอาการรุนแรงมาก
- การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดจมูก การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกร
ที่คลินิกนอนกรน โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ให้บริการ วินิจฉัย และรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก พร้อมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย คุณจึงสามารถไว้วางใจในมาตรฐานและความปลอดภัยในการบริการ นอกจากนี้เรายังมีบริการตรวจการนอนหลับที่บ้านด้วย Home Sleep Test อีกด้วย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv