มาสด้า เปิดกลยุทธ์ ชู 'ดิจิทัล-CPO-นโยบายราคาเดียว' ดันยอดปี 66 โต 10%

มาสด้า เปิดกลยุทธ์ ชู 'ดิจิทัล-CPO-นโยบายราคาเดียว' ดันยอดปี 66 โต 10%

มาสด้า ประเมินตลาดรถยนต์ปีนี้ใกล้เคียงปี 65 แม้ปัจจัยบวกมากกว่าปีที่แล้ว เศรษฐกิจโต แต่ยังมีอุปสรรคด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต้นทุนพลังงาน การผลิต และค่าครองชีพเพิ่ม เดินหน้าผลักดันตลาด ชูกลยุทธ์รอบด้านทั้งดิจิทัล, Mazda CPO, นโยบายราคาเดียว ดันเป้าขายเติบโต 10%

ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ได้ร้อนแรงมากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกและปัจจัยลบรอบด้านที่ยังคงต้องจับตามอง ทั้งสถานการณ์ต่างประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เช่น

  • ปัญหาด้านราคาและการขาดแคลนพลังงานในยุโรป
  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ
  • นโยบายทางเงินของประเทศต่างๆ
  • สถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
  • สถานการณ์โควิดในจีน
  • ความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

สำหรับประเทศไทย ยังพอมีปัจจัยบวกสนับสนุน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชน ที่เป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจากช่วงกลางปี 2565 เห็นได้ว่า ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนและคาดว่าปีนี้จะได้รับแรงสนับสนุนมากยิ่งขึ้นจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

อย่างไรก็ตามในส่วนตลาดรถยนต์ไทย แม้จะมีหลายปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าปีที่แล้ว ทั้งท่องเที่ยว ภาคการเกษตรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริโภคของประชาชนเริ่มกลับมา ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลายลง แต่มองว่ายอดขายน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว อยู่ที่ 8.5-8.7 แสนคัน

เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ และจีน ความขัดแย้งในยุโรป ปัญหาด้านพลังงาน ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาขนส่งหรือโลจิสติกส์ ที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออก  รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นจึงอาจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว 

อย่างไรก็ตามในส่วนของมาสด้า เชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 10% ด้วยยอดขายประมาณ 3.5 หมื่นคัน 

 

มาสด้า เปิดกลยุทธ์ ชู \'ดิจิทัล-CPO-นโยบายราคาเดียว\' ดันยอดปี 66 โต 10%

ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส กล่าวว่า ปี 2566 มาสด้าจะยังคงเดินตามแผนงานระยะกลาง (Mid-Term Plan) ผ่าน Retention Business Model ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าแบรนด์ ด้วยการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าในทุกจุด (touchpoint) 

ด้านการตลาด มาสด้าจะนำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะดิจิทัล แพลตฟอร์มมาใช้สื่อสารกับลูกค้า แบบ One-to-One Communication การนำฐานข้อมูลมาใช้ผ่านระบบ Global One Customer Data Management System

ด้านการขายกำหนดนโยบายด้านการขายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา ควบคู่กับเพิ่มจำนวนลูกค้าและผลักดันให้เกิดการซื้อซ้ำ ด้วยธุรกิจมือสอง หรือ Mazda CPO

ด้านผลิตภัณฑ์จะเน้นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยวางแผนปรับโฉมและเปิดตัวสู่ตลาดในทุกไตรมาสของปี 2566 

มาสด้า เปิดกลยุทธ์ ชู \'ดิจิทัล-CPO-นโยบายราคาเดียว\' ดันยอดปี 66 โต 10%

ส่วนกลยุทธ์ด้านการบริการหลังการขายและนโยบายเกี่ยวกับผู้จำหน่าย จะร่วมมือกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศยกระดับทั้งด้านการขายและการบริการหลังการขาย  ดูแลลูกค้าในระยะยาวด้วยโปรแกรมบริการหลังการขายที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย

สำหรับปี 2565 ผ่านมาแม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง แต่มาสด้า ก็สามารถฝ่าฟันมาได้ ด้วการสร้างยอดจำหน่ายได้ตามเป้าหมายที่ปรับลดก่อนหน้านั้น คือ 3.16 หมื่นคัน ลดลง 10.59%  เมื่อเทียบกับปี 2564  ครองอันดับ 6 ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

โดยยอดขายแบ่งเป็น

  • มาสด้า 2 มียอดจำหน่ายสูงสุด 1.62 หมื่นคัน ลดลง 8.78%
  • มาสด้า3 จำนวน 1,553 ลดลง 21.64%  
  • ซีเอ็กซ์-3 จำนวน 4,249  ลดลง 10.41%
  • ซีเอ็กซ์ -30 จำนวน  6,092 คัน ลดลง 18.74%
  • ซีเอ็กซ์-5  จำนวน 824  คัน ลดลง 11.39%
  • ซีเอ็กซ์-8 จำนวน 1,157 คัน เพิ่มขึ้น 10.08%
  • ปิกอัพ บีที-50 จำนวน 1,506 คัน เพิ่มขึ้น 10.49
  • รถสปอร์ต โรดสเตอร์ เอ็มเอ็กซ์-5 จำนวน 8 คัน เพิ่มขึ้น 100%