ฟาสต์ฟิต โตแรง น้องใหม่ 'ออโตคลิก' ลุยเพิ่มสาขาดันรายได้ พันล้าน

ฟาสต์ฟิต โตแรง น้องใหม่ 'ออโตคลิก' ลุยเพิ่มสาขาดันรายได้ พันล้าน

ออโตคลิก มองธุรกิจ ฟาสต์ฟิต กลุ่มโมเดิร์นเทรด ขยายตัวสูง ตลาดยังเปิดกว้าง เพราะผู้นำตลาดมีส่วนแบ่งไม่สูงมาก เดินหน้าขยายเครือข่าย ผุดสาขา 13 ภูเก็ต ตั้งเป้าปีหน้า 30 แห่ง ดันรายได้หพันล้าน งัดดิจิทัล เจาะคนรุ่นใหม่ ถูกใจลูกค้าเก่า มอง EV ไม่กระทบธุรกิจมากนัก

ธุรกิจ ฟาสต์ฟิต หรือศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์เร่งด่วน ได้รับความนิยม และมีผู้เข้ามาเล่นในตลาดนี้มายาวนาน รองรับตลาดลูกค้าเจ้าของรถยนต์ที่หมดระยะรับประกัน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ออโตคลิก มองเห็นโอกาสขยายตลาด

ออโตคลิก ธุรกิจฟาสฟ์ฟิตโดย บริษัท ออโตคลิกบายเอซีจี จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 

ออโตคลิก เข้ามาจับตลาดนี้ตั้งแต่ปี 2564 และขยายงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยประสบการณ์จากการทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรือดีลเลอร์ ฮอนด้ามายาวนานกว่า 30 ปี ในนาม ฮอนด้า มะลิวัลย์ สาขาแรกในจังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะข้ามห้วยมาขยายสาขาใหม่ในกระบี่ และภูเก็ตก่อนหน้านี้

ตลาดโมเดิร์นเทรด ยังเปิดกว้าง

ภาณุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออโตคลิกบายเอซีจี จำกัด กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนในธุรกิจฟาสต์ฟิต เพราะเห็นถึงตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และต้องการสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัทเอง ที่สามารถขยายงานได้อย่างอิสระ

นอกจากนี้ยังเห็นถึงโอกาสทั้งการเติบโตของตลาดฟาสต์ฟิตในรูปแบบ โมเดิร์นเทรด และการแข่งขันในตลาดนี้ โดยปัจจุบัน หากอ้างอิงตลาดยางรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของฟาสต์ฟิต พบว่าแต่ละปี ตลาดรถยนต์ไทยมีความต้องการยางรถยนต์ปีละ 20 ล้านเส้น แบ่งเป็นยางในตลาดโรงงานประกอบรถยนต์ (OEM) 10 ล้านเส้น และตลาดทดแทน หรือ REM 10 ล้านเส้น

และในตลาด REM แบ่งเป็นร้านยางแบบดั้งเดิม 70% ส่วนตลาดโมเดิร์นเทรด มีสัดส่วน 30% แม้จะยังน้อยกว่า แต่พบว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากช่วงหลายปีก่อนมีสัดส่วนต่ำกว่า 15% และมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะขยับสัดส่วนเป็น 40 หรือ 50% ได้เช่นกัน

“ข้อดีของโมเดิร์นเทรด คือ มีความน่าเชื่อถือ และการมีหลายสาขาทำให้ซื้อสินค้าเข้ามาในราคาที่ต่ำลง โอกาสขยายธุรกิจมีมากกว่า”

ฟาสต์ฟิต โตแรง น้องใหม่ \'ออโตคลิก\' ลุยเพิ่มสาขาดันรายได้ พันล้าน

ในขณะที่ด้านการแข่งขัน ปัจจุบันพบว่าผู้นำตลาดอันดับ 1 ในโมเดิร์นเทรด มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10-15% นั่นหมายถึงในภาพรวมตลาดยังมีพื้นที่ว่างเปิดกว้างให้กับผู้เล่นรายอื่น

“ถ้าส่วนแบ่งตลาดยังอยู่ในระดับนี้ โอกาสของรายอื่นยังมี ต่างจากธุรกิจคอนวีเนียน สโตร์ ที่ขณะนี้ผู้นำตลาดไปไกล ดังนั้นผู้เล่นรายอื่นๆ แม้จะมาจากกลุ่มทุนใหญ่ก็ยังไม่สามารถที่เบียดตลาดได้”

ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดฟาสต์ฟิต ผู้ที่เป็นผู้นำตลาดมีสาขาประมาณ 200 แห่ง อันดับที่ 2 ประมาณ 100 แห่ง

เล็งปี 67 เปิด 30 สาขา รายได้พันล้าน

ในส่วนของออโตคลิกปัจจุบันเปิดให้บริการ 13 สาขา และเตรียมขยายเพิ่มเป็น 20 สาขาภายในปีนี้ โดยมีทำเลที่กำหนดไว้แล้ว เช่น ในกรุงเทพฯ​ ที่ บางหว้า งามวงศ์งาน และวิภาวดี ขณะที่ต่างจังหวัดจะเปิดที่ขอนแก่น

จากนั้นในปี 2567 จะเปิดให้ครบ 30 สาขา ซึ่งเชื่อว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น และจะเพิ่มรายได้ให้ออโตคลิกเป็นหลักพันล้านบาท

“ปีแรกเราเปิดสาขาหลักหน่วยรายได้ก็หลักล้านบาท ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 6 สาขา รายได้หลักสิบล้านบาท ปัจจุบันรายได้หลักร้อยล้าน แต่เมื่อครบ 30 สาขา จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันล้านบาทแน่นอน

ทั้งนี้หลังจากเปิดสาขาแรกในภูเก็ตปี 2564 ออโตคลิก ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดบริการสาขา สี่กอ กะทู้ ภูเก็ต เป็นสาขาที่ 13 และเป็นสาขาที่ 3 ในจังหวัดภูเกฺ็ต และในระยะยาว บริษัทคาดหวังที่จะเปิดให้ได้หลักร้อยสาขา

“ธุรกิจจะมีจุดที่เหมาะสมของตัวเอง เช่น คอนวีเนียนสโตร์เริ่มแรกมีสาขาประมาณ 2,000 สาขายังขาดทุน พอได้หลักหมื่นสาขา กำไรมหาศาล หรือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ตอนมี 30 สาขา ยังปริ่มน้ำ พอได้หลักร้อยสาขา ก็มีกำไร”

ฟาสต์ฟิต โตแรง น้องใหม่ \'ออโตคลิก\' ลุยเพิ่มสาขาดันรายได้ พันล้าน

ยึดข้อมูลประชากรรถเลือกทำเลผุดสาขา

ส่วนแนวทางการเลือกขยายสาขาของออโตคลิก จะยึดตามจำนวนประชากรรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ การดูจากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบก ทำให้สามารถสร้างการเติบโตได้ง่าย

โดยปัจจุบันสาขาทั้งหมด เรียงจากสาขาแรกถึงสาขาที่ 13 ประกอบด้วย สาขาเทพกระษัตรี จังหวัดภูเก็ตสาขาโรงเรียนสตรีภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สาขาโลตัส อ่อนนุช 80 กรุงเทพฯ สาขาบิ๊กซี กัลปพฤกษ์ กรุงเทพฯสาขาบิ๊กซี มหาชัย 2 จังหวัดสมุทรสาคร

สาขาโลตัส เอกชัย 99/1 กรุงเทพฯ สาขาบิ๊กซี เชียงใหม่ ดอนจั่น จังหวัดเชียงใหม่ สาขาโลตัส นวนคร จังหวัดปทุมธานี สาขาบางจาก บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี สาขาบิ๊กซี ติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี สาขาบิ๊กซี รามอินทรา กรุงเทพฯสาขาโชตนา จังหวัดเชียงใหม่ และ สาขาแยกสี่กอ กะทู้ จังหวัดภูเก็ต

ส่วนพื้นที่แต่ละแห่งจะต้องมีพื้นที่สำหรับตัวอาคารประมาณ 300 ตร.ม. และพื้นที่นอกอาคาร เช่น สำหรับจอดรถอีก 300 ตรม. ถึง 1 ไร่ ส่วนงบประมาณลงทุน สำหรับสร้างอาคาร และเครื่องมือ เฉลี่ยประมาณ 20 ล้านบาท

ชูเทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจ-เตรียมรับ EV ดิสรัป

ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจ ออโตคลิกมองว่าปัจจุบันโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี  จึงเน้นพัฒนาระบบการให้บริการลูกค้า ระบบบริการหลังการขายและระบบการบริหารจัดการ ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลตลอดกระบวนการ ไม่ว่าจะป็น

การเปิดใบสั่งซ่อม ระบบการติดตามสถานะงานซ่อมที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการเวลาในขณะที่รถรับบริการได้ e-Tax invoice และ e-Receipt ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าปัจจุบันอย่างมาก และเป็นแนวทางในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกด้วย 

"บริษัทจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าได้รับความรวดเร็ว ความปลอดภัย ความสะดวกสบายสูงสุด และทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความตั้งใจที่ว่าลูกค้าจ่ายหลักร้อยได้รับบริการแบบหลักหมื่น"

ขณะที่ตลาดรถยนต์ไทย กำลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ อีวี (EV) ได้รับความนิยมมากขึ้น และประเมิินกันว่าจะส่งผลต่อธุรกิจอู่ซ่อมรถ รวมถงฟาสต์ฟิตด้วยนั้น ออโตคลิกมองว่าผลกระทบมีแน่ แต่ไม่มากนัก เพราะสินค้าหลักที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 22% ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูง

ฟาสต์ฟิต โตแรง น้องใหม่ \'ออโตคลิก\' ลุยเพิ่มสาขาดันรายได้ พันล้าน

แต่หากอีกมุมคือ ผลกำไรจะพบว่ากำไรจากน้ำมันเครื่องไม่มาก ดังนั้นหากตลาดส่วนนี้ลดลงไป ก็จะส่งผลกระทบไม่มากนัก ส่วนรายได้ที่มีสัดส่วนสูงสุดคือ ยาง คิดเป็น 30% และที่สำคัญยางสร้างผลกำไรที่ดีกว่า

 แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงเริ่มวางแผนรับมือหากในอนาคตประชากรอีวีมีสูงขึ้น และยังได้รับความสนใจจกาพันธมิตรที่จะเขามาร่วมลงทุน เช่น

การสร้างตู้ชาร์จไฟ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเห็นว่าไม่น่าสนใจเท่าที่ควร เพราะเชื่อว่าจุดชาร์จควรอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน หรือ ห้างสรรพสินค้า ที่มีกิจกรรมอื่นๆ ให้เจ้าของรถได้ทำในช่วงที่รอการชาร์จไฟมากกว่า