มจธ.คิดค้นแผ่นปิดแผลดูดซับได้มากกว่า 50 เท่า
“บียอนด์ก๊อซ หรือ Beyond Gauze” ผ้าก๊อซราคาถูกที่มีความสามารถในการดูดซับสารคัดหลั่งได้ดี สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย
ผ้าก๊อซปิดแผล เป็นวัสดุปิดแผลที่นิยมใช้ทั่วไปเนื่องจากมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย แต่ดูดซึมสารคัดหลั่งได้น้อยและไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซึ่งอาจจะนำไปสู่การอักเสบของแผลได้ จึงทำให้บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ผลิตวัสดุปิดแผลในรูปแบบต่างๆ เช่น ไฮโดรไฟเบอร์ ไฮโดรคอลลอยด์ และแผ่นโฟม ออกมาจำหน่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง
ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ นางสาวสุวนันท์ คล้ายศรี และนางสาวสุทธิดา แก้ววิเศษ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้คิดค้นและพัฒนา “บียอนด์ก๊อซ หรือ Beyond Gauze” ผ้าก๊อซราคาถูกที่มีความสามารถในการดูดซับสารคัดหลั่งได้ดี สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย และสามารถใช้กับแผลลักษณะต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมวัสดุปิดแผลที่ทำมาจากผ้าก๊อซซึ่งเป็นฝ้ายบริสุทธิ์และมีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด มาเปลี่ยนสภาพพื้นผิวให้มีความสามารถในการดูดซับสารคัดหลั่งได้ดี จากนั้นจึงนำมาเคลือบด้วยสารต้านเชื้อแบคทีเรียที่สังเคราะห์ขึ้นจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการผลิตสีเขียว (green technology) โดย “Beyond Gauze” มีความสามารถในการดูดซับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือน้ำหนอง ได้ดีกว่าผ้าก๊อซที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดถึง 50 เท่า และยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้กว่า 3 ล้านเซลล์ มีราคาถูกกว่าวัสดุปิดแผลที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 20 เท่า
โดยสามารถนำ “Beyond Gauze” ไปใช้กับบาดแผลได้ทุกลักษณะ เช่น แผลตัด แผลทะลุ แผลกดทับ และแผลเนื้อเน่า “Beyond Gauze” จึงเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทำแผลบ่อย ลดการเจ็บปวด แผลหายเร็วขึ้น ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำแผล ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยครอบครัวที่มีฐานะยากจนและไม่สามารถถึงการบริการทางการแพทย์แล้ว ยังเป็นการนำวัสดุที่เหลือทิ้งที่มีอยู่มาก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย ทั้งนี้คณะผู้วิจัยยังได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ทดสอบความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์แล้ว พบว่ามีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับดีมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและเสนอขอทุนเพื่อพัฒนาผลงาน รวมถึงมีภาคเอกชนให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้งานจริงและพัฒนาเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป”