เมื่อห้องสมุดต้องเป็นมากกว่าที่เก็บหนังสือ

เมื่อห้องสมุดต้องเป็นมากกว่าที่เก็บหนังสือ

อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดงานประชุมวิชาการ TK Forum 2019 ในหัวข้อ “Design Library, Engage Community”

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และอดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะประธานเปิดงาน  กล่าวว่า สังคมความรู้มีความสำคัญกับการขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ และพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ในส่วนของห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะห้องสมุดยุคนี้คงไม่เป็นเพียงสถานที่สำหรับอ่านหรือยืมคืนหนังสือเท่านั้น แต่จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่สนับสนุนให้ผู้คนได้เรียนรู้ทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต และเติมเต็มความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ รวมทั้งเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันของผู้คน เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนกับคน เป็นโอกาสในการต่อยอดความรู้ไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  

ด้าน นายเจิ้ง อี้ พาน ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนเมืองเกาสง ไต้หวัน ถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ “KPL, a Flippied Library, Flipping the City as well” ที่แบ่งปันแนวคิดการบริหารงานห้องสมุดประชาชนเมืองเกาสง โดยใช้ความเชื่อมโยงห้องสมุดเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเมือง สร้างสรรค์ให้พื้นที่แวดล้อมห้องสมุดตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนา ส่งผลให้ห้องสมุดไม่เกิดขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวแต่ดำเนินไปพร้อมๆ กับบริบทของการพัฒนาเมืองในทิศทางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ผู้คนในชุมชนสตาร์ทอัพและนักสร้างสรรค์ทั้งหลายจึงสามารถใช้ประโยชน์จากห้องสมุดเกาสงได้อย่างแท้จริง ห้องสมุดเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2557 ถูกออกแบบให้เป็นอาคารสีเขียว ไร้เสาแห่งแรกของโลก และกลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของเมือง เป็นห้องสมุดที่ก้าวทันตามการปฏิรูปและนวัตกรรมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการทุ่มเทเรื่องการจัดหาบริการใหม่ๆ ที่ดีกว่า เพื่อจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้และสร้างบรรยากาศที่สะดวกสบายต่อผู้อ่าน

ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการในห้องสมุด จนปัจจุบันสามารถขยายจำนวนห้องสมุดจาก 14 แห่ง ในปี 2010 ได้เพิ่มเป็น 38 แห่ง ใน 38 เขต ซึ่งห้องสมุดเกาสงมีตัวเลือกในการยืมคืนหนังสือหลายช่องทางให้กับผู้ใช้บริการที่นอกเหนือการยืมหนังสือที่ห้องสมุด ได้แก่ “Book Link Service” สามารถเลือกยืมหนังสือจากที่ไหนสาขาไหนก็ได้และทางห้องสมุดจะใช้เวลาในการจัดส่งหนังสือ 2.6 วัน มีรถอยู่ 8 คันในการขนส่ง “Mobile Library” เป็นช่องทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากมีบางคนไม่สะดวกในการเดินทางมาที่ห้องสมุดหรือจะเป็นชาวต่างชาติ ช่องทางนี้จะเป็นการนำรถขนหนังสือไปจอดตามจุดต่างๆ เช่น หอพักนักศึกษา มีหนังสือหลากหลายภาษาให้เลือกอ่านอีกด้วย และช่องทางสุดท้ายคือ “MRT Smart Library” เป็นตู้ยืมคืนหนังสืออัตโนมัติ ตู้นี้จะอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นตู้ที่สามารถยืมคืนหนังสือได้ 24 ชม. และจากการสำรวจในปี 2010-2018 พบว่า มีจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดเพิ่มขึ้นถึง 297% ขณะที่ใช้เงิน 900 กว่าล้านเหรียญดอลลาร์ไต้หวันในการซื้อหนังสือมากมายเข้าห้องสมุด

“ห้องสมุดเกาสงมีหนังสือให้เลือกหลายหลาย โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับเกาสง โดยเฉพาะเป็นหนังสือที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ของเกาสง และทุกอย่างเกี่ยวกับเกาสง เราแจก eBook ฟรี 65 เล่มให้กับประชาชน เราเป็นศูนย์หนังสือภาพที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน และเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกเช่น การเล่าเรื่อง, ดูภาพยนตร์, ทำกิจกรรมเวิร์คชอปต่างๆ ยังมีแผนกอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น Little Big Shot หนังสือภาพสำหรับเด็ก, Reading Box เป็นการให้คนในพื้นที่เล่าเรื่องและทำเป็นหนังสือเพื่อให้เด็กๆ ในยุคต่อไปได้รู้ว่าในช่วงนั้นๆ เป็นอย่างไร และกิจกรรมแนะนำหนังสือดีๆ ประจำเดือนต่างๆ ” นายเจิ้ง อี้ พาน กล่าว

ด้านนายฟริโซ ฟาน แดร์ สทีน ผู้อำนวยการด้านเทคนิคและผู้อำนวยการโครงการระหว่างประเทศ บริษัท เมคานู (Mecanoo) ประเทศเนเธอร์แลนด์ บรรยายในหัวข้อ  “From Collection to Connection” เปิดมุมมองด้านการออกแบบพื้นทีเรียนรู้ ในยุคที่ห้องสมุดต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ตอกย้ำแนวคิดสำคัญว่าห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่เก็บหนังสือ แต่สามารถออกแบบให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนและทิศทางการพัฒนาเมืองได้อย่างกลมกลืน โดยยกเคสที่น่าสนใจจากประสบการณ์ด้านการทำงานออกแบบพื้นที่เรียนรู้ระดับโลกมากมาย

 อาทิ  ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร เป็นห้องสมุดใหม่ที่ตั้งอยู่ใน เบอร์มิงแฮม มีขนาดใหญ่รองลงมาจาก ลอนดอน ใกล้กับโรงละคร มี art gallery มีกิจกรรมทางด้านดนตรี เพื่อให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ห้องสมุด Mid-Manhattan Campus ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้าที่จะกลายมาเป็นห้องสมุดที่ตรงนี้เคยเป็นห้างสรรพสินค้าเก่ามาก่อนและได้ทำการทุบทิ้งทำให้เกิดเป็นที่พื้นที่ว่าง และได้ทำการออกแบบสร้างขึ้นมาใหม่ให้เป็นห้องสมุด เพื่อคนในพื้นที่แถวนั้นและทุกคนผ่านไปผ่านมาได้ใช้บริการห้องสมุด ห้องสมุด MLK LibraryWashington DC ห้องสมุดแห่งนี้ได้มีการตั้งชื่อตาม มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ เป็นตึกสีดำ เนื่องจากมีแค่เพียง 5 ชั้น และอยากรณรงค์ให้ประชาชนใช้บันไดมากกว่าการใช้ลิฟต์ตึกนี้จึงไม่มีการสร้างลิฟต์ และออกแบบบันไดให้ไม่ดูน่าเบื่อและน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น ข้างๆ บันได ออกแบบเป็นสไลด์เดอร์ไว้สำหรับเด็กๆ ในการสไลด์ลงมาแทนการลงบันได ในส่วนของชั้นดาดฟ้ามีเป็นห้องเลคเชอร์และมีสวนเล็กๆ

สำหรับให้ผู้ใช้ได้นั่งพักผ่อนห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ เมืองเดลฟท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตอกย้ำแนวคิดสำคัญว่าห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่เก็บหนังสือ แต่สามารถออกแบบให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนและทิศทางการพัฒนาเมืองได้อย่างกลมกลืน  และ ห้องสมุด Lochol ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อก่อนเป็นโรงงานซ่อมรถไฟ ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องสมุด ทางเข้าเป็นร้านกาแฟ โดยใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วภายในตึก เราได้เอาช่วงล่างของรถไฟมาทำเป็นโต๊ะที่สามารถเลื่อนไหลตามราง มีต้นไม้ปลูกเพื่อให้คนรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมพื้นที่เลคเชอร์ มีห้องสมุดสำหรับเด็ก โดยเราร่วมกับสวนสนุก เพื่อทำความเข้าใจกับเด็ก มีห้อง game room ให้เด็กๆมาเล่น