เปิดเรียน เวลานี้เหมาะสมหรือไม่ จะเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยอย่างไร

เปิดเรียน เวลานี้เหมาะสมหรือไม่ จะเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยอย่างไร

 

ช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะ เปิดเรียน จริงหรือไม่ มาตรการความพร้อมทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียน ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19



เปิดเรียน 1 กรกฎาคม เวลานี้เหมาะสมหรือไม่

รศ. พญ. วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนที่ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มองว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะและดีมากๆ ที่เด็กๆ ควรจะไปโรงเรียน เพราะว่า เป็นเวลา 1 เดือนแล้ว ที่เราไม่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ติดต่อในประเทศไทย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในหลักการของโรคติดเชื้อ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามไม่มีผู้ป่วยในระยะเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ถือว่าปลอดภัย คือสามารถควบคุมการติดเชื้อนั้นได้

รศ. พญ. วนัทปรียา ให้เหตุผลว่า การศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่จำเป็นต้องไปโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญได้คุยกันด้านผู้ติดเชื้อในเด็ก เห็นตรงกันและคิดว่าเหมาะสมที่จะเปิดเรียน แต่การเปิดเรียนนั้นจะไม่ใช่การกลับไปเปิดเรียนแบบปกติ ต้องเป็นการเปิดเรียนแบบวิถีใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัวไปด้วยกัน

ความกังวลเรื่องการระบาดระลอก 2

ความกังวลนี้ทุกคนมีแน่นอน แม้ประเทศไทยเหมือนจะคุมสถานการณ์ได้ แต่ถ้าดูในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกน่าเป็นห่วงมาก ผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกวันละกว่า 150,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม ไทยต้องชั่งน้ำหนักถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น เพราะ เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินชีวิตของเด็กๆ จำเป็นต้องมี ฉะนั้น เมื่อเปิดก็ต้องเฝ้าติดตามและพร้อมที่จะปรับตัวตามสถานการณ์ในประเทศด้วย

โรงเรียนหลายๆ ที่ จริงๆ ก็มีเปิดไปแล้วบ้าง โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติซึ่งเปิดมาได้ประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงถ้าดูจากข้อมูลทั่วโลก เด็กจะเป็นกลุ่มน้อยที่ติดเชื้อ โอกาสติดเชื้อจะน้อยกว่า รวมถึงไม่ค่อยจะเป็นผู้แพร่เชื้อ ถ้าดูจากหลักฐานทั่วโลกเลย ยังแทบจะไม่เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าเด็กเป็นผู้นำการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น

ปัจจัยบวกและลบในแง่การศึกษา

การเรียนออนไลน์ ที่เราพยายามทำกันมาแล้ว อาจจะไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน หรือทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ สิ่งหนึ่งที่การเรียนออนไลน์ขาดอย่างชัดเจน คือเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ การที่เด็กไปโรงเรียน เด็กไม่ได้ไปเรียนแค่บทเรียนในหนังสือหรือในตำราเพียงเท่านั้น แต่ยังได้ทักษะชีวิต การปฏิสัมพันธ์กับครู เพื่อน การทำงานเป็นกลุ่มทีม การช่วยเหลือการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำผ่านการเรียนออนไลน์ได้ยาก

การที่เด็กเล็กๆ จะมีสมาธิอยู่กับสิ่งที่เป็นการเรียนทางเดียว ไม่ได้เป็นการเรียนโต้ตอบทำได้ยากมาก ครูเองก็อาจจะไม่สามารถประเมินเด็กรายคนได้ว่าแต่ละคนมีความเข้าใจในบทเรียนหรือไม่ แล้วการที่เด็กจะยกมือถามในการเรียนออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

การหยุดเรียนนานๆ ช่วง โควิด-19 ทั้งเด็กและผู้ปกครองล้วนแต่มีความเครียด เด็กก็มีความเครียดที่เขาไม่ได้เจอเพื่อนๆ ผู้ปกครองก็มีความเครียดความกังวลว่าลูกจะได้รับการเรียนหรือการดูแลดีแค่ไหน พ่อแม่บางคนต้องไปทำงานไม่มีเวลามาดูแลลูก เพราะฉะนั้น ด้านสังคมและจิตใจก็มีผลต่อทั้งเด็กและผู้ปกครอง

ปัจจัยด้านบวกของการเรียนออนไลน์ แน่นอนเลยคือ ความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อน้อยลง ไม่ใช่แค่โรคโควิด-19 เท่านั้น ช่วงเข้าหน้าฝนปกติมีโรคติดเชื้ออีกหลายอย่างซึ่งจะมาพร้อมการเปิดเทอม อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคมือเท้าปาก เป็นต้น

มาตรการด้านความปลอดภัยที่ต้องเตรียมพร้อม

มาตรการด้านความปลอดภัยของแต่ละโรงเรียน แต่ละสถานที่อาจมีบริบทในการทำที่แตกต่างกัน แต่มาตรการหลักๆ ที่ต้องมี เช่น

  • การคัดกรองความเจ็บป่วย เมื่อเด็กเข้ามา จริงๆ แล้ว การตรวจวัดอุณหภูมิอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีในการคัดกรองด้วยซ้ำ เพราะจากข้อมูลของเด็กที่ติดโควิด-19 มีไข้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่วัดแล้วไม่มีไข้ ไม่ได้หมายความว่าเขาปลอดภัย การคัดกรองเรื่องของอาการความเจ็บป่วยไม่สบายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งทุกที่ทำได้
  • การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล โรงเรียนจะต้องเตรียมพร้อม จะเป็นสิ่งที่ดี หากเด็กๆ สามารถนั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ในระหว่างเรียนยังใส่หน้ากากอนามัยได้ แต่ที่สำคัญอีกที่ คือ ห้องอาหาร โรงอาหาร หรือในที่ที่เด็กๆ ต้องเข้าไปทำกิจกรรม จะต้องเตรียมพร้อม โดยทำมาร์คจุดไว้เหมือนที่ในโรงพยาบาลทำได้จะดี เพราะเด็กๆ อาจจะไม่ทันได้ระมัดระวังตัว
  • การใส่หน้ากาก อาจเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก็ได้ ต้องขอความร่วมมือผู้ปกครองให้เตรียมให้เด็กๆ และควรเตรียมอย่างน้อย 2 อัน เพราะว่า อาจมีอาการแฉะ ชื้น เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก เหงื่อออกเยอะ จำเป็นจะต้องเปลี่ยน คุณครูอาจต้องช่วยกันดู คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องบอกเด็กๆ ว่า ถ้าวิ่งเล่นมีเหงื่อออกเยอะก็จำเป็นต้องเปลี่ยนหน้ากาก จึงต้องมีสำรอง
  • โรงเรียนต้องเตรียมพร้อมส่งเสริมมาตรการการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ซึ่งได้ผลไม่แตกต่างจากการใช้แอลกอฮอล์เจลในการล้างมือ เพราะฉะนั้นต้องมีตามจุดต่างๆ ตั้งแต่การเข้าโรงเรียน หน้าห้องเรียน ในห้องน้ำ ต้องเตรียมพร้อม โดยเด็กๆ ก็ต้องพกของส่วนตัวไปเองด้วยเช่นกัน
  • ถ้าโรงเรียนมีห้องที่แน่น นักเรียนห้องหนึ่งมีจำนวนมาก อาจจะต้องมาใช้มาตรการไฮบริดจ์ แต่ละโรงเรียนอาจจะปรับโดยให้ส่วนหนึ่งมาเรียนในห้องเรียน อีกส่วนหนึ่งเรียนจากที่บ้าน หรือสลับวันกันมาเป็นวันคู่วันคี่ แล้วแต่บริบทที่คิดว่าเหมาะสมกับโรงเรียนของตัวเอง ในกรณีที่มีนักเรียนจำนวนมาก หากโรงเรียนมีโถงเรียนพละ แล้วสามารถไปตั้งโต๊ะเรียนเพื่อให้สามารถเว้นระยะห่างทางกายภาพ ก็ทำได้เหมือนกัน
  • ควรจะต้องเตรียมถังขยะให้เพียงพอ และถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นถังขยะที่มีฝาปิด แบบไม่ต้องใช้มือเปิด ถ้าเป็นแบบที่ใช้เท้าเหยียบได้จะดี
  • โรงเรียนควรมีสิ่งช่วยเตือน เช่น ป้ายเตือนเรื่องการล้างมือ สื่อต่างๆ ที่ให้ความรู้ทั้งกับ ผู้ปกครอง และเด็กๆ เด็กจำเป็นต้องล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะ ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังการสัมผัส รวมถึงโรงเรียนต้องมีมาตรการทำความสะอาดพื้นผิวที่ต้องมีคนสัมผัสบ่อยๆ อย่างน้อยวันละครั้ง ถ้าได้มากกว่านั้นได้ยิ่งดี
  • รถรับส่งโรงเรียน จะต้องทำความสะอาด หลังรับส่งเสร็จทุกครั้ง
  • โรงเรียนควรสอนเรื่องสุขศึกษาให้เด็ก เช่น สอนการล้างมือ 7 ขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยต้องล้างให้นานพอ ขณะล้างให้ร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ไปด้วย 2 รอบ ถ้าล้างด้วยเจลก็ต้องรอจนแห้ง ฤทธิ์ฆ่าเชื้อถึงจะเกิดผล โรงเรียนจะต้องสอดแทรกสิ่งเหล่านี้

โรงเรียนจะต้องเคร่งครัดในมาตรการ ถ้าทุกคนยึดมั่น เคร่งครัดในมาตรการความปลอดภัย เชื่อมั่นว่าปัญหาการระบาดกลับมาอาจจะไม่เยอะ ต้องช่วยกัน รู้ว่ายาก แต่เป็นสิ่งที่น่าจะสามารถกระทำได้

ผู้ปกครองต้องเตรียมของใช้ส่วนตัวอะไรบ้าง

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องเตรียม นอกจากต้องเตรียมหน้ากากอย่างน้อย 2 อัน รวมถึงแอลกอฮอล์เจลแล้ว ของใช้ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเช่นกระติกน้ำ โดยทำสัญลักษณ์ให้ชัดเจน บางโรงเรียนอาจขอให้เตรียมเครื่องเขียนไม่ใช้ของส่วนกลางเลย ไม่ว่าจะเป็น ดินสอ ดินสอสี ยางลบ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนด้วย รวมถึงเตรียมช้อนส้อม หรืออาหารไปรับประทานเองได้ หากพ่อแม่ต้องการความมั่นใจในความปลอดภัย

ตอนนี้ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าลูกเจ็บป่วย ไม่สบาย ต้องขอความร่วมมือให้หยุดเรียน เพราะว่า อาการโควิด-19 แยกไม่ได้กับไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่แค่เพียงระบบทางเดินหายใจเท่านั้น เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ แต่ยังต้องสังเกตอาการอย่างอื่น โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารด้วย เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาการของโรคโควิดได้ หากผู้ปกครองไม่แน่ใจควรจะไปตรวจให้ทราบแน่ชัดเมื่อมีอาการข้างต้น

รศ. พญ. วนัทปรียา กล่าวทิ้งท้ายว่า เปิดเรียน ที่จะถึงนี้ หวังว่าถ้าทุกคนช่วยกันทั้งโรงเรียน ทั้งผู้ปกครอง ก็น่าจะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งมีโอกาสที่โรคโควิด-19 จะกลับมา หากเกิดขึ้นจริงหวังว่าจะเป็นการระบาดเล็กๆ เพื่อให้เด็กๆ สามารถไปโรงเรียนได้ สามารถพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไปข้างหน้าพร้อมๆ กันได้