ถ้าหน้าหนาวไม่หนาว ... อนาคตการท่องเที่ยวไทยกับภาวะโลกร้อน
หน้าหนาวปีนี้จัดว่าเป็นปีที่หนาวทีเดียวซึ่งหลายคนกล่าวว่าไม่เจออากาศหนาวเช่นนี้มาหลายปีแล้ว
สภาพอากาศที่หนาวเย็นนี้ทำให้เห็นนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปสัมผัสความหนาวกันมากมาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากดั้นด้นไปชมปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งที่ทางเหนือเรียกว่า “เหมยขาบ” ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวภาคเหนือในปีนี้คึกคักเป็นพิเศษ
เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงว่า การท่องเที่ยวไทยนั้นส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่มีสภาพอากาศเป็นสิ่งดึงดูดใจ (Climate attraction) กล่าวคือ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเพราะต้องการสัมผัสอากาศหนาวเย็น และในอีกหลายๆ ส่วน ที่แม้ว่าสภาพอากาศไม่ได้เป็นสิ่งดึงดูดใจโดยตรง แต่ก็ต้องการสภาพอากาศที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งการที่การท่องเที่ยวไทยส่วนหนึ่งต้องอาศัยสภาพอากาศที่เหมาะสมเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อคิดว่าการท่องเที่ยวของไทยนั้นจัดว่าอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ หรือมีความไวที่จะได้รับผลจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมค่อนข้างมาก (Climate sensitive) ทำให้ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของสภาพอากาศแปรปรวนในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับภาคการท่องเที่ยวของบางประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ เราจะเห็นว่าเป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยวที่มีความไวที่จะได้รับผลจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมน้อยกว่า
ทั้งนี้ เพราะแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นสิ่งแวดล้อมมนุษย์สร้าง (Built environment) สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งและกิจกรรมท่องเที่ยวหลายอย่างไม่ได้เปิดรับกับผลของสภาพอากาศมากนัก เช่น สถานกาสิโน สวนพฤกษชาติแห่งใหม่ที่เป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม โดยมีการจัดการแสดงดนตรีและละครเวทีที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นประจำ ส่งเสริมเรื่องการเที่ยวชิมอาหารทั้งอาหารพื้นเมืองที่มีความหลากหลาย (จีน-มาเลย์-อินเดีย) และอาหารสากล ได้แก่ เทศกาลอาหารและไวน์ เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมเหล่านี้อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตน้อยกว่าการท่องเที่ยวที่อิงกับสภาพอากาศและธรรมชาติเช่นในประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นนั้น อาจส่งผลให้ประเทศไทยในอนาคตมีหน้าหนาวที่ไม่ค่อยหนาวและมีระยะสั้น มีหน้าร้อนที่ร้อนมากขึ้นและยาวนานมากขึ้น ส่วนหน้าฝนนั้นอาจมีระยะเวลาเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแต่มีโอกาสฝนตกหนักมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้ภาคส่วนการท่องเที่ยวของไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่สภาพอากาศในอนาคตเปลี่ยนไปและไม่เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยว เช่น หน้าหนาวที่ไม่หนาวอาจทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะไม่มาเที่ยว หรือมีระยะเวลาหนาวเพียงสั้นๆ ซึ่งจะลดโอกาสในการทำธุรกิจท่องเที่ยวลง
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังอาจส่งผลต่อสภาพของแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นในอากาศอาจทำให้พืชพรรณบางชนิดไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หรือดอกไม้บางอย่างอาจจะไม่ออกดอกในฤดูกาลที่ควรจะเป็นฤดูท่องเที่ยว ทำให้แหล่งท่องเที่ยวลดความดึงดูดใจลงไป หรือการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนหรือการกระจายตัวของฝนก็อาจทำให้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตกเปลี่ยนไป ตลอดจนอาจจะทำให้กิจกรรมล่องแพมีข้อจำกัด เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว การตัดสินใจของนักท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นข้อจำกัดต่อกิจกรรมท่องเที่ยวในอนาคต และในที่สุดก็อาจทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวในอนาคตลดลง ส่งผลให้การทำธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคตมีความเสี่ยงสูงขึ้น
การท่องเที่ยวไทยนั้นจัดว่าเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเป็นแหล่งรายได้อันดับหนึ่งของประเทศ นอกจากนั้นตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยนักท่องเที่ยวไทยด้วยกันเองก็มีความสำคัญมิใช่น้อย เนื่องจากก่อให้เกิดการกระจายรายได้ออกสู่ต่างจังหวัด เกิดกระแสเงินจำนวนมากไหลเวียนผ่านห่วงโซ่ธุรกิจมากมาย (ได้แก่ โรงแรมที่พัก รถเช่า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก การผลิตของที่ระลึกตามครัวเรือน ธุรกิจบริการต่างๆ ฯลฯ) ซึ่งภาคการท่องเที่ยวไทยควรจะต้องเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงในอนาคตหากจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเยือนภาคเหนือตอนบนนี้มาเที่ยวกันในช่วงหน้าหนาวในช่วงเวลา 3 เดือน คือ ธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งถ้าหากจำนวนนี้ลดลงเนื่องจากหน้าหนาวในอนาคตไม่ค่อยจะหนาวหรือมีระยะสั้น ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบการต่างๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยวควรจะต้องมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ต่างไปหรือไม่เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวควรจะต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ๆ หรือไม่ เพื่อลดหรือกระจายความเสี่ยงจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะลดลงในอนาคต
ประเด็นที่ควรคิดกันก็คือ เรายังขาดความตระหนักที่เหมาะสมต่อประเด็นด้านความเสี่ยงของภาคการท่องเที่ยวภายใต้ภาวะโลกร้อน โดยที่ยังไม่มีความรู้ที่เหมาะสมอีกทั้งขาดความเข้าใจที่มากพอที่จะอธิบายได้ว่าภาคส่วนย่อยต่างๆ (tourism cluster) ของการท่องเที่ยวไทยนั้น จะตกอยู่ในความเสี่ยงมากน้อยเพียงไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต นักท่องเที่ยวประเภทต่างๆ จะมีการตัดสินใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร ผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ใครในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันอย่างไรและสามารถรับมือได้เพียงไร เราควรคิดถึงการปรับตัวของภาคการท่องเที่ยวในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวอย่างไร
ทั้งนี้ เราอาจจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ไม่อิงกับสภาพอากาศมากนัก นอกจากนั้น ยังอาจจะต้องคิดถึงการวางยุทธศาสตร์การตลาดใหม่และการปรับตำแหน่งทางการตลาดของการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนหากลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีเป้าประสงค์ในการท่องเที่ยวต่างไปจากเดิมบ้างเพื่อหาทางกระจายนักท่องเที่ยวไปในฤดูอื่นๆ หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีรูปแบบพฤติกรรมการตัดสินใจที่ไม่ยึดเรื่องอากาศหนาวเป็นปัจจัยสำคัญ
ประเด็นเหล่านี้เป็นคำถามที่น่าจะมีการแสวงหาคำตอบเพื่อเป็นแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวของภาคเศรษฐกิจที่จัดว่าเป็นรายได้อันดับหนึ่งของประเทศและก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างกว้างขวางในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความพร้อมต่ออนาคตที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ