มีอำนาจเหนือตลาด...ใช่ว่าจะผิด

มีอำนาจเหนือตลาด...ใช่ว่าจะผิด

ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายมักเข้าใจว่า ผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่ธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาด ถือว่ามีความผิด

ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์!

นิยามของอำนาจเหนือตลาดในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ คือ ความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจ ในการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการของตนให้สูงกว่าต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost) ของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ต้นทุนหน่วยสุดท้าย คือ ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย) หากนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้ อาจกล่าวได้ว่า อำนาจเหนือตลาดคือความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจ ในการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการของตนให้สูงกว่าระดับราคาของการแข่งขันทางการค้า ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตามหลักเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด ปี 2550 ผู้ประกอบธุรกิจจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก็ต่อเมื่อ ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นจะต้องมีส่วนแบ่งตลาด ในปีที่ผ่านมาเกินกว่า 50% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด และต้องมียอดขายเกินกว่า 1 พันล้านบาท หรือตลาดสินค้าและบริการใดที่ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกรวมกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาเกินกว่า 75%  (ยกเว้นผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งรายใดใน 3 รายนี้ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่า10%) และทั้ง 3 รายจะต้องมียอดขายของแต่ละรายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมาเช่นกัน

เรื่องของการมีอำนาจเหนือตลาดจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรา 50 และมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.แข่งขันการค้าฯ กล่าวคือ มาตรา 50 จะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะที่มาตรา 51 จะเป็นเรื่องของการควบรวมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด กล่าวได้ว่า การมีอำนาจเหนือตลาดไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือผิดต่อกฎหมาย หากแต่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นผลกระทบต่อราคาสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น

  1. กำหนดราคาซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรมอาทิ ผู้ประกอบธุรกิจ วัสดุก่อสร้างรายหนึ่งซึ่งมีธุรกิจที่เข้าหลักเกณฑ์ของการมีอำนาจเหนือตลาด ได้กำหนดราคาขายวัสดุก่อสร้างประเภทหนึ่งต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost) ของการผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างประเภทนั้น เพื่อต้องการกำจัดคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจวัสดุก่อสร้างประเภทเดียวกันในตลาดเดียวกัน ให้ออกจากตลาด หรือผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งในตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market) ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ของผู้มีอำนาจเหนือตลาด กำหนดราคาสินค้าของตนสูงเกินควร เป็นต้น

2.การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ห้างสรรพสินค้าซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ของผู้มีอำนาจเหนือตลาด กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่จะนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายในห้างนี้ ต้องว่าจ้างผู้แทนขายเข้ามาขายสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจเองด้วย โดยค่าตอบแทนของผู้แทนขาย ผู้ประกอบธุรกิจที่นำสินค้าเข้ามาวางจำหน่าย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด เว้นแต่มีการยินยอมกันไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว หรือห้างสรรพสินค้าที่มีอำนาจเหนือตลาดกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ในห้างตนต้องไม่นำสินค้าประเภทเดียวกันไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าอื่นที่เป็นคู่แข่ง เป็นต้น

3.ระงับ ลด จำกัดบริการ หรือกระทำการใดเพื่อให้ปริมาณสินค้าต่ำกว่าความต้องการของตลาด อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดสั่งให้ผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าหรือผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อมาวางจำหน่ายในร้านของตน ลดปริมาณการผลิตสินค้าหรือปริมาณการนำเข้าสินค้า ลงให้ต่ำกว่า ความต้องการของตลาด เพื่อให้ราคาสินค้าชนิดนั้นๆ มีราคาสูงขึ้น เป็นต้น

4.แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร อาทิ เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่เข้าหลักเกณ์เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจที่นำสินค้ามาวางจำหน่ายในร้านของตน ต้องทำรายการส่งเสริมการขาย (Promotion) มิฉะนั้นจะไม่อนุญาติให้วางจำหน่ายสินค้าในร้านอีกต่อไป โดยผู้ประกอบธุรกิจที่วางจำหน่ายสินค้ามิได้ยินยอมหรือมิได้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงร่วมกันแต่แรก หรือห้างสรรพสินค้าที่เข้าหลักเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด ห้ามผู้ผลิตสินค้าที่วางจำหน่ายสินค้าในห้างของตน ผลิตสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกันให้กับห้างสรรพสินค้าอื่นที่เป็นคู่แข่ง เป็นต้น

ตัวอย่างข้างต้น ล้วนเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาด่ไปในทางที่ผิด ถือเป็นความผิดตามมาตรา 50 ของพ.ร.บ.แข่งขันการค้าฯ และเป็นโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือถูกปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจควรรู้และเข้าใจพ.ร.บ.แข่งขันการค้าฯ อย่างแท้จริง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์หากตนถูกละเมิด ขณะเดียวกันก็จะไม่เป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง

โดย...

ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

กรรมการการแข่งขันทางการค้า