นโยบายเศรษฐกิจของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2)

นโยบายเศรษฐกิจของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2)

ครั้งที่แล้ว ผมกล่าวถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2005 ถึง 2016 โดยอาศัยตารางด้านล่าง และได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ในปี 2016 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 10.5% ของจีดีพี (คอลัมน์ 3) แปลว่ามีรายได้มากกว่ารายจ่ายในประเทศมากกว่า 10% ของจีดีพี

ส่วนเกินนี้แทนที่จะนำไปใช้ลงทุนหรือบริโภคในประเทศก็ถูกนำไปลงทุนในต่างประเทศ เห็นได้จากเงินทุนที่ไหลออกไปมากถึง 20,200 ล้านดอลลาร์ (คอลัมน์ 7) ในปีเดียวกันประเทศไทยเกินดุลชำระเงิน 12,800 ล้านดอลลาร์

แปลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขายเงินบาทออกไป เพื่อจะซื้อเงินดอลลาร์ดังกล่าว ทำให้ทุนสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น (โดยไม่จำเป็น) แต่หากไม่ทำเช่นนั้น เงินบาทในปีนั้นก็จะแข็งค่าขึ้นไปอีก คำถามคือ ทำไมรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศในขณะนั้น ปล่อยให้เป็นเช่นนั้น? 

ทั้งนี้ในปีก่อนหน้า คือปี 2015 ประเทศไทยก็เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 6.9% ของจีดีพี เงินทุนไหลออกไป 16,800 ล้านดอลลาร์ และประเทศไทยเกินดุลชำระเงิน 5,900 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น จะบอกว่าไม่ได้มีการ “ตักเตือน” มาก่อนหน้า ก็ไม่น่าจะใช่

การไม่กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งๆ ที่มีกำลังซื้อ (รายได้) ส่วนเกินเป็นจำนวนมากนั้น อาจมองว่ามีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้จากการที่ประเทศไทยในปี 2015 เงินเฟ้อ ติดลบ 0.9% และในปี 2016 เงินเฟ้อก็ต่ำมาก คือเพียง 0.2% เท่ากับ ต่ำกว่าที่สหรัฐที่เงินเฟ้อของเขาเท่ากับ 0.1% ในปี 2015 และ 1.3% ในปี 2016

 

ผมมองว่า ประเทศเสียโอกาสในการเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างน่าเสียดาย เพราะในช่วงปี 2015 จนกระทั่งถึงวันนี้ ไม่มีปีใดเลยที่เงินเฟ้อของไทยสูงกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐ และช่วงปี 2015-2020 เป็นช่วงที่เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่ากรอบเป้าเงินเฟ้อมาโดยตลอด

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ตึงตัวเกินไปนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวได้เชื่องช้ากว่าที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ปัญหา “โครงสร้าง” แต่เพียงอย่างเดียว

นโยบายเศรษฐกิจของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2)

กลับมาดูที่ช่วงปี 2017- 2019

3.ช่วงปี 2017-2019 ช่วงนี้ เราเห็นปัญหาเช่นที่กล่าวข้างต้นอย่างชัดเจนมากขึ้นไปอีก เงินทุนไหลออกเฉลี่ย 12,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี (คอลัมน์ 7) การลงทุนในประเทศเฉลี่ยเพียง 23% การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ใช้จ่ายในประเทศน้อยเกินไป) สูงถึง 7.4% ของจีดีพีเฉลี่ยทุกปี

และที่สำคัญคือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วัดจากการเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลหลักต่างๆ และถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการค้าที่เรียกว่า NEER ซึ่งสรุปได้ว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ในช่วงดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การส่งออกสินค้าจึงโตไม่มาก (4.6% ต่อปี คอลัมน์ 1) และการท่องเที่ยวก็เริ่มอิ่มตัวแล้ว (คอลัมน์ 2) เห็นได้จากการเกินทุนบริการที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงปี 2017-2019 ตอนนั้น ควรจะเห็นแล้วว่าประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างจริงๆ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในทางอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) เพราะเป็นช่วงที่การบริโภคและการลงทุนในประเทศ (คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี) ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

แปลว่าคนมีรายได้น้อย เพิ่มหนี้สิน ในขณะที่คนรวย รวยขึ้น แต่หาที่ลงทุนในประเทศไม่ได้ จึงขนเงินออกนอกประเทศ ทำไมจึงไม่ได้มีความพยายามมากกว่านี้ ในการแก้ปัญหาดังกล่าวในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง?

4.ช่วงปี 2020-2023 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เพราะจีดีพีเฉลี่ยในช่วงดังกล่าวไม่ได้ขยายตัวเลย (คอลัมน์ 4, GDP growth 2020-2023 = 0)

และการท่องเที่ยวก็ยังไม่สามารถทำให้ดุลบริการกลับมาเกินดุลได้ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอาจต้องกลับมาเป็นหัวจักรขับเครื่องเศรษฐกิจต่อไป แต่การลงทุนก็ยังไม่ได้ฟื้นตัว และเงินทุนก็ยังไหลออกเฉลี่ย 4,800 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ในช่วง 20 ปีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีมากเพียงตัวเลขเดียวคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นจาก 52,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2005 มาเป็น 224,500 ล้านดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน

แต่ทุนสำรองดังกล่าว ซึ่งคิดไปมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย เป็นความมั่งคั่งที่ไม่มีคนไทย คนใดสามารถเข้าถึงหรือจับต้องได้เลย จริงอยู่การมีทุนสำรองที่เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญน้อยลงเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว

ที่ผมได้ลำดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น ก็เพราะว่าไม่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้าแบบเดิมๆ อีกครับ.