ทุนจีนบุกไทย “สินค้าทะลัก” รัฐบาลตั้งรับแก้ปัญหาให้ดี
อาเซียนกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าที่เป็นผลผลิตส่วนเกินของประเทศจีน โดยในช่วงที่ผ่านมา เข้ามาทำตลาดในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การส่งสินค้าเข้ามาทุ่มตลาดเหล็กในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา
ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหลายรายการ แต่ผู้ส่งออกจีนได้มีการเจือโลหะบางประเภทเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากร เพื่อให้เสียภาษีนำเข้าต่ำ ส่งผลให้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 50%
ต่อมาผู้ประกอบการจีนได้เข้ามาทำการตลาดแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการจีนได้มีการสร้างคลังสินค้าในอาเซียนเพื่อให้การส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้น และได้ใช้ประโยชน์จากเขตปลอดอากร ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์รายใหม่ทยอยเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และแพลตฟอร์มของไทยสู้ไม่ได้ รวมถึงเอสเอ็มอีได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ถึงผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการจีนเข้ามาเปิดบริษัทลงทุนในประเทศไทย โดยในบางกิจการอยู่ในบัญชีที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เช่น ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม และไอศกรีมของจีนหลายรายเข้ามาทำธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์ ซึ่งมีทั้งการถือหุ้นแทน (นอมินี) และการไม่ยื่นขออนุญาตตามกฎหมาย โดยการดำเนินการลักษณะนี้ยังมีในธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน
หลายประเทศในอาเซียนได้ออกมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อปกป้องภาคการผลิตภายใน โดยอินโดนีเซียได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 100-200% ครอบคลุมสินค้านำเข้ากลุ่มสิ่งทอ รวมทั้งมีแผนขยายการขึ้นอัตราภาษีครอบคลุมสินค้ากลุ่มอื่น เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงมาเลเซียได้ขึ้นภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 500 ริงกิต หรือ 3,900 บาท ในอัตรา 10%
สำหรับประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการแก้ปัญหานี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนทั้งระยะสั้น และแผนระยะยาวที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์