คนตัวเล็กเดือดร้อนสาหัสหนี้ครัวเรือนนอกระบบพุ่ง
หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่แต่ละครอบครัวสร้างขึ้น โดยหวังว่าจะสร้างรายได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อรถยนต์เพื่อนำไปประกอบอาชีพ หรือซื้อบ้านเพื่อที่อยู่อาศัย
หนี้ที่กู้ยืมเพื่อลงทุนด้านการศึกษาให้กับลูกหรือหนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิตที่นำไปจับจ่ายใช้สอยอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งหนี้ครัวเรือนบางครอบครัวเป็นหนี้ในระบบ แต่บางครอบครัวอาจจะมีหนี้นอกระบบเพิ่มเข้ามาด้วย
โดยเฉพาะการที่สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ทำให้หนี้ครัวเรือนที่ลดลงก็จริง แต่ก็ทำให้ครัวเรือนไปกู้หนี้นอกระบบมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2566 พบว่า ครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ 47.5% ก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภคแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างชัดเจน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงถึง 20 % ต่อเดือน หรือ 240 %ต่อปีก็ตาม
ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหรือหยุดชำระสินเชื่อ จะเลือกผิดนัดสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาทก่อนสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อรักษาวงเงินในบัตรไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน สะท้อนว่าครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว และกลายเป็นหนี้เสีย รัฐบาลควรจะหาวิธีการในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำอย่างไรจะเพิ่มสภาพคล่องให้ครัวเรือนมีกำลังในการชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและ กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้อย่างไรหรือไม่
ก่อนหน้านี้รัฐบาลเปิดให้ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2566 จนถึง 29 ก.พ. 2567 ปรากฏว่ามีประชาชนลงทะเบียน 151,175 ราย มูลหนี้รวม 11,732.506 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 125,081 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 27,348 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 125,302 ราย โดยกรุงเทพมหานครมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 10,091 ราย เจ้าหนี้ 9,047 ราย มูลหนี้ 1,065.464 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนหนี้นอกระบบที่สภาพัฒน์เปิดเผยออกมาที่มีถึง 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ 47.5% ก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค
มาตรการ ไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ด้วยการลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย คือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระยะสั้น แต่ต้องมีมาตรการระยะยาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับลูกหนี้นอกระบบพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพสามารถลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันรวมไปถึงขยายโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นหนี้มาเป็นผู้ที่มีกำลังในการชำระหนี้ได้ และปลอดหนี้ไปได้ในที่สุด และไม่กลับไปกู้หนี้นอกระบบอีก และมีมาตรการเข้มงวดกรณีการก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผิดนัดชำระสูง ถึง 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสียสูงสุดเมื่อเทียบหนี้ครัวเรือนอื่น