ความลับทางการค้า

ความลับทางการค้า

ความไม่รู้นี้แก้ง่ายมาก คือ จงเรียนรู้มันเสีย และต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากข่าว ‘คาว’ ที่กลายเป็น ‘ดราม่า’ ในเรื่องกล้วยที่ไม่กล้วยอย่างสำนวนไทยนั้น ผมไม่ขอยุ่งเกี่ยวอาจหาญไปวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ได้ แต่อยากเรียนให้ทราบว่าในชีวิตจริง เรื่องพรรค์นี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพราะความไม่รู้นี่เองที่เป็นเหตุ

เพราะการศึกษาไทยเราไม่เคยสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาครับ เราจึงเพิกเฉย ไม่คิดว่าสำคัญ จนในที่สุดก็อาจสูญเสียมันไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่สามารถทำอะไรได้

ความไม่รู้นี้แก้ง่ายมาก คือ จงเรียนรู้มันเสีย และต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย

เพราะว่า โลกของเราทุกวันนี้ ขับเคลื่อนด้วยมันสมองและความคิด ความคิดในหัวเรา ถ้าหากมันเข้าท่าจริง และหากมันสามารถเปลี่ยนแปรให้กลายเป็นเงินได้จริง มันก็เรียกว่าเป็นความคิดเงินล้านครับ

โดยเฉพาะกับบรรดา ‘สูตรการผลิต’ ของสิ่งของต่างๆ นี่แหละที่เป็นตัวดี

ลองดูว่า สมมติมีร้านขายข้าวมันไก่เจ้าหนึ่ง สมมติว่าชื่อ ข้าวมันไก่ฟ้าประทาน เจ้าของปัจจุบันรุ่นที่สาม สืบทอดสูตรการทำอาหาร โดยเฉพาะการทำน้ำจิ้มมาจากปู่ซึ่งมาจากไหหลำ บังเอิญสูตรที่ว่ามีรสชาติถูกปากคนไทยมาก เลยขายได้ดีมาจนถึงรุ่นที่สาม

บัดนี้ ทายาทเริ่มมีเงินมีทองมาก มีการศึกษามาก ชักไม่ชอบมานั่งทำเอง แต่จ้างลูกน้องมาทำแทน ลูกน้องชาวต่างจังหวัดที่มาทำงานก็ขยันขันแข็งสามารถเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และจดจำสูตรจำวิธีการทำงานได้อย่างละเอียด

ลูกน้องคนนั้น ทำงานกับเถ้าแก่เจนวายที่จบเอ็มบีเอจากต่างประเทศมาได้สามสี่ปี เรียกว่า เรียนรู้จนครบจบกระบวนท่าทุกซอกทุกมุม วันหนึ่ง คิดขึ้นมาได้ว่า สูตรเราก็รู้หมดแล้ว จะอยู่เป็นลูกจ้างเขาตลอดชีวิตคงไม่รวย กระไรลองลาออกไปทำมาหากินเองเสียคงจะดีกว่า ว่าแล้วก็ลาออกไป

จากนั้นอีกสามเดือน ลูกจ้างคนเดียวกันนี้ เปิดร้านข้าวมันไก่ชื่อ สรรค์บันดาล ใช้สูตรเดียวกันเป๊ะ รสชาติถอดมาทุกกระเบียดรส แถมการตั้งราคาก็เท่ากัน ทำเลยังดีกว่าด้วยซ้ำเพราะเพิ่งเปิดใหม่ เนื้อที่กว้างขวางกว่า จอดรถสะดวกสบาย

เถ้าแก่คนเดิมโวยวายว่า ลูกน้องเก่าคดโกง เรียนเสร็จดันมาล้างครูแบบนี้ จะแจ้งตำรวจมาจับเสียให้เข็ด

ปรากฏว่า ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการจ้างงานนั้นไม่ได้มีสัญญาบอกว่า ลูกจ้างต้องไม่นำเอาความลับหรือความรู้ที่ได้มาจากการทำงาน ไปประกอบการแข่งขันกับนายจ้างด้วย

นายจ้างก็ได้แต่ทำตาปริบๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร สงสัยว่ามรดกจากปู่คงจะจบลงที่รุ่นที่สามนี่เอง

สิ่งที่เถ้าแก่รายนี้ไม่ได้ปฏิบัติคือ การรักษาความลับทางการค้า

ซึ่งควรจะมีตั้งแต่การจัดทำสัญญารักษาความลับ ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไว้ชั้นหนึ่งก่อน หรือถ้ามีสัญญาจ้างงาน ก็ควรมีเนื้อความระบุถึงพันธสัญญาที่ลูกจ้างจะต้องรักษาความลับของนายจ้างไว้ และถ้าจะให้ดีควรระบุด้วยว่า หากลาออกไปแล้วภายในกี่ปีๆ ไม่สามารถประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างได้

ทั้งนี้ ฟังดูเหมือนเป็นสัญญาที่บังคับลูกจ้างน่าดู

แต่ลองนึกอย่างนี้ครับว่า การทำธุรกิจบางอย่างนั้น นายจ้างมีความลับ มีข้อมูล มีความรู้มากมายที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งลูกจ้างได้รู้ได้เห็นตลอดเวลาของการทำงาน อันเป็นธรรมดาของการทำงานในโลกปัจจุบัน

สมมติหากลูกจ้างเอาความลับของเราไปเปิดเผยกับคนภายนอก แล้วคนๆ นั้นต่อมากลายเป็นคู่แข่งเรา อย่างนี้ถือว่า ลูกจ้างทำให้นายจ้างเสียหาย

กลับกัน สมมติว่าลูกจ้างลาออก แล้วเอาข้อมูลที่ได้จากนายจ้างไปประกอบการแข่งขันกับนายจ้างเสียเอง นายจ้างก็เสียหายเช่นกัน

ดังนั้น พันธสัญญาระหว่างกันคือ นายจ้างให้เงินค่าตอบแทน ส่วนลูกจ้างก็ต้องรักษาความลับของนายจ้างให้ดี

กรณีนี้ สามารถปรับใช้กับธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่การทำอาหารได้ด้วยครับ เช่น ธุรกิจส่งออก ย่อมมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับคู่ค้า ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจได้ หรือ ธุรกิจการก่อสร้าง อาจมีแผนผัง แบบแปลน หรือข้อมูลเฉพาะของลูกค้าบางอย่าง ที่สามารถนำไปสู่การลอกเลียนแบบได้ กรณีทั่วไป เราสามารถใช้สัญญารักษาความลับเพื่อผูกมัดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ครับ

สมมติอย่างกรณี ‘กล้วย’ ที่โด่งดังนั้น เราควรทำอย่างไร

ผมจะแนะนำบริษัทอย่างนี้ครับว่า เมื่อจะไปคุยกับใครก็แล้วแต่ หากจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าบางอย่างของเรา เช่น สูตรการผลิต เป็นต้น ท่านควรที่จะยื่นสัญญาไม่เปิดเผยความลับ หรือในสากลเรียกกันว่า Non-Disclosure Agreement (NDA) ให้คู่ค้าลงนามก่อนครับ

เนื้อหาในสัญญานี้ก็คือ ท่านรู้ความลับของเราแล้ว ต้องเก็บความลับของเราให้ดี อย่าให้รั่วไหลไปถึงบุคคลที่สาม และห้ามเอาความลับนั้นไปใช้เสียเอง โดยไม่ได้รับอนุญาติจากเราเสียก่อน

ถ้าไม่เซ็นก็ไม่ต้องคุยครับ แต่ถ้าอยากคุย ก็ไม่ต้องเปิดเผย ถ้าคู่กรณีท้วงมาว่า อ้าวไม่บอกอะไรเลย แล้วจะคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร ท่านต้องตอบกลับไปครับว่า ถ้าไม่เซ็นก็เปิดไม่ได้ เปิดหมดก็เสียหายหมดกันเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็มีเรื่องของอำนาจในการเจรจาต่อรองด้วย แข็งเกินไปก็ไม่ได้มิตร อ่อนเกินไปมิตรก็กลืนกินเรา เรื่องธุรกิจก็เช่นนี้เอง

สมมติว่า คู่กรณียอมลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว หากต่อมาภายหลังปรากฏว่า ในการทำงานร่วมกัน มีความรู้ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้ละว่ามันมาจากใครกันแน่ เพราะคุยๆ กันไป งานก็พัฒนาไปเรื่อย จนจุดหนึ่งก็ถึงบางอ้อพร้อมกันว่า เราได้เดินมาถูกทางแล้ว พบความสำเร็จในอีกขั้นหนึ่งแล้ว

คำถามคือ ไอ้ตรงความรู้เก่าหรือความรู้เดิมนั้น เข้าใจแล้วว่าเป็นของหุ้นส่วน แต่ตรงความรู้ใหม่นี่สิ มันเป็นของใครกันแน่?

ในทางทฤษฎีเขาบอกว่า หากมีการลงทุนด้วย ต้องตีตามสัดส่วนของการลงทุนร่วม แต่ถ้ามันเกลื่อนๆ กันก็ตีเสียว่าเป็นเจ้าของร่วมกันฝ่ายละครึ่ง อันนี้แหละครับที่มันยุ่ง

เพราะเรื่องของการต่อยอดแบบนี้ ควรที่จะมีการตกลงร่วมกันก่อนล่วงหน้าด้วยว่า หากเกิดการพัฒนางานขึ้น จะแบ่งกันอย่างไร จะตกลงเรื่องผลประโยชน์กันอย่างไร รวมถึง การห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้ประโยชน์จากงานใหม่นั้นเพียงลำพัง โดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย

อธิบายถึงตรงนี้ รับรองว่าปวดหัวครับ แต่ถ้าหากไม่ทำ รับประกันได้ว่าจะยิ่งปวดหัวมากกว่านี้หลายเท่า และจะเสียโอกาส เสียประโยชน์มากกว่านี้เยอะ

ดังนั้น ผมอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั้งหลายให้ความสนใจกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง และเรียนรู้อย่างจริงจังครับว่า จะปกป้องนวัตกรรมของตนเองอย่างไร ไม่ให้คนอื่นมาฉกฉวยไปหน้าตาเฉย รวมถึงไม่ตกเป็นผู้ร้ายในการไปเอางานของคนอื่นมาเป็นของตัวเสียเอง จะมีความผิดตามกฎหมายได้ทั้งที่ไม่รู้ตัว

โลกวันนี้เดินหน้าด้วยนวัตกรรม และนวัตกรรมก็มีสิ่งที่เรียกว่า การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาซ่อนไว้อยู่ข้างหลัง ถ้าหากท่านจะเดินหน้าด้วยนวัตกรรม ท่านก็ต้องเดินไปพร้อมกับการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาควบคู่กันนั่นเอง