ข้อผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศเรื่อง GMO
พิธีสารคาร์ตาเฮน่า ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) เป็นพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญา
ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2546 ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2549
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (The Convention on Biological Diversity) ซึ่ง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2535 เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นหลักสำคัญ ในการดูแลจัดการปัญหาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นอนุสัญญาที่มีบทบัญญัติครอบคลุมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแบบองค์รวม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการแบ่งประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ประเด็นสำคัญที่มีการระบุไว้ในอนุสัญญาดังกล่าวคือ ความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกป้องสุขอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ที่อาจได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ มีศักยภาพสำคัญในการส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของมวลมนุษย์ โดยเฉพาะอาจสนองความต้องการอย่างจำเป็นทางด้านอาหาร การเกษตร และการดูแลรักษาสุขภาพ
พิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ บัญญัติให้ประเทศสมาชิก จะต้องดำเนินการตามที่จำเป็นเหมาะสม ในการตรากฎหมาย การบริหาร หรือกำหนดมาตรการอื่นใด เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพิธีสารนี้ และต้องให้เกิดความมั่นใจได้ว่า การพัฒนา การควบคุม การจัดการ การขนส่ง การใช้ การถ่ายโอน การปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งมีชืวิตที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม GMO ได้ดำเนินการไปในประการที่มีการป้องกัน หรือลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจมีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสุขอนามัยของมนุษย์ด้วย โดยเน้นการเคลื่อนย้ายข้ามแดนเป็นพิเศษ และไม่จำกัดสิทธิของประเทศสมาชิกที่จะดำเนินการปกป้อง เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ให้เข้มงวดกว่าที่บัญญัติไว้ในพิธีสารนี้
บรรดาประเทศสมาชิกต่างก็ดำเนินการตรากฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือดำเนินการทางบริหาร ในการจัดการควบคุมดูแล การพัฒนา การควบคุมจัดการ การขนส่ง การใช้ การถ่ายโอน การปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งมีชืวิตที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมในเขตแดนของตน เข้มงวดลดหลั่นกันไปตามความเหมาะสมของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ เช่น
จีน กำหนดว่า การทดสอบ การผลิต การวางจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ GMO ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อนดำเนินการ ผู้ที่จะส่งออกสินค้า GMO ทั้งสำเร็จรูปแล้วหรือเป็นวัตถุดิบ เข้าไปยังประเทศจีน จะต้องไปขอหนังสือรับรองความปลอดภัย GMO จากกระทรวงเกษตรก่อน
นอร์เวย์ เข้มงวดมากเรื่อง GMO และไม่อนุญาตให้มีการผลิต GMO การขอนำเข้า ต้องแสดงให้ได้ว่าเป็นการเหมาะสมอย่างไร และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่เป็นอันตรายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
รัสเซีย ยินยอมให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร GMO บางอย่าง แต่ไม่อนุญาตให้มีการปลูกและขยายพันธุ์พืช GMO
ญี่ปุ่น สามารถผลิต นำเข้าและใช้ GMO ได้ถ้าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด แต่ชาวญี่ปุ่นมีทัศนคติในแง่ลบต่อพืช GMO จึงไม่มีการปลูกพืช GMO เพื่อการค้า ยกเว้นกุหลาบสีน้ำเงิน
เกาหลีใต้ อนุญาตให้นำเข้า วิจัย พัฒนา GMO ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ไม่มีการปลูกพืช GMO
สหภาพยุโรป ได้กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับ GMO อย่างเข้มงวด ทั้งอาหารและอาหารสัตว์ที่ทำจาก GMO หรือมีส่วนประกอบของ GMO เพื่อป้องกันผลกระทบเสียหายที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อความปลอดภัยของสุขอนามัยมนุษย์และสัตว์ ตามความห่วงกังวลของผู้บริโภค เกษตรกร นักสิ่งแวดล้อม อาหาร อาหารสัตว์ที่ทำจาก GMO หรือมีส่วนประกอบของ GMO สามารถนำเข้าและวางจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้ เมื่อผ่านการประเมินในเรื่องความปลอดภัยที่เข้มงวดเป็นกรณีๆ ไป
ไทย ยังไม่มีการตรากฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแล GMO แต่ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลควบคุม GMO เช่นกำหนดเงื่อนไขการทดลองพืช GMO ภาคสนามที่เข้มงวด ขณะนี้ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อออกบังคับใช้เป็นกฎหมายแทนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนหลายภาคส่วนว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีความไม่เหมาะสม มีช่องโหว่ที่อาจทำให้ความเข้มงวดรัดกุมเกี่ยวกับ GMO ลดน้อยลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความหลากหลายของพืชพันธุ์ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ข้อพิจารณา 1.ประเทศไทยมีความหลากหลายทางพืชพันธุ์ มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชผักผลไม้นานาชนิด ทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และที่มีการปรับปรุงพันธุ์แล้ว สามารถผลิตผลไม้ได้หลากหลายตามฤดูกาล มีบริโภคได้ตลอดปี และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าวที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเป็นที่นิยมของต่างประเทศมานาน จนเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมา 30 กว่าปี ยกเว้นในช่วงที่มีการรับจำนำข้าวที่เป็นปัญหา
ไทยมีแนวคิดเป็นครัวโลก ส่งข้าวพืชผักผลไม้อาหารไปเลี้ยงชาวโลก ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมให้เกษตรกรทำไร่ทำนาสวนผสมพึ่งพาตนเองให้ได้ ส่งเสริมการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่เป็นที่นิยมของตลาด ทั้งใน และต่างประเทศในขณะนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องพึ่งพา GMO ไม่ว่าการนำเข้าหรือการผลิต
2.เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของอนุสัญญา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และพิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เน้นย้ำให้ความสำคัญ ต่อการคุ้มครองความปลอดภัย ต่อความหลากหลายของชีวภาพ สุขอนามัยของมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม ที่จะได้รับผลกระทบจาก GMO แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าสังคมโลกมองเห็น GMO มีปัญหา ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัยมนุษย์และสัตว์
ประการสำคัญ ข้อผูกพันที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม คือป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการที่ GMO จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์ ไม่ได้เป็นข้อผูกพัน ให้ต้อง วิจัย ผลิต หรือนำเข้า GMO แต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริงและเหตุผล ตามข้อพิจารณาดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพที่กำลังจะตราเป็นกฎหมายออกใช้บังคับ จะต้องมีความเข้มงวดรัดกุมไม่น้อยกว่ามติคณะรัฐมนตรี ที่เป็นแนวปฏิบัติอยู่เดิม หรือมีความเข้มงวดรัดกุมให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะตามสภาวะในปัจจุบัน เกษตรกรไทย คนไทย ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพา GMO ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยากที่จะเยียวยามากกว่า ผลดีที่อาจได้รับ