“กบในน้ำเดือด” : เรื่องจริงหรืออิงนิยาย
เรื่องราวของ “กบในน้ำเดือด” ที่กบตายอย่างไม่รู้ตัวมีมานานแล้วโดยถูกใช้เป็นเรื่องเล่าสอนใจ ไม่ว่าเป็นเรื่องจริงหรืออิงนิยายก็ตาม
มันมีที่มาที่ไปที่สนุกและมีแง่ให้คิดอย่างสมควรพิจารณา
มีการพูดอ้างกันมานานว่าหากเอากบใส่ในหม้อน้ำที่ตั้งไว้บนเตาไฟตั้งแต่น้ำยังเย็น มันจะอยู่อย่างมีความสุขถึงแม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเป็นสัตว์เลือดเย็นทำให้สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สอดคล้องกับข้างนอกได้โดยมิได้ตระหนักถึงอันตราย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อ น้ำเดือดและพร้อมต่อการกลายเป็นส่วนประกอบของต้มโคล้งไปแล้ว
เราได้ยินเรื่องเล่านี้กันบ่อย ๆโดยเอาไปโยงกับการที่คน หรือองค์กรไม่ยอมปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยเหมือนอุณหภูมิของน้ำรอบตัวกบและ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว
เมื่อได้ยินเรื่องเล่าแปลก ๆ อย่างนี้ก็จำเอาไปประยุกต์ต่อกันมานับร้อย ๆ ปี โดยหารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องอิงนิยาย เพราะเมื่อมีการทดลองจริง กบจะโดดออกมาตั้งแต่เริ่มร้อนแล้ว
ในปี 1869 แพทย์ชาวเยอรมันFriedrich Goltzสาธิตให้เห็นว่าแม้แต่กบที่สมองถูกผ่าออกไปก็จะทนอยู่ในน้ำร้อนได้เพียง 25๐Cแล้วก็จะโดดออกจากหม้อ อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. 1872 และ1875มีนักวิทยาศาสตร์ทดลองและป่าวประกาศว่ากบไม่โดดออกจากหม้อ หากเพิ่มความร้อน ทีละน้อยจนมันสุกตาย
ต่อมาก็มีผู้ทดลองอีกในปี 1875 และยืนยันว่าหากเพิ่มความร้อนในอัตรา .002๐C ต่อวินาทีแล้วกบก็จะไม่โดดออกมาและตายในเวลา 2.5 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีในปี ค.ศ. 1995 มีการทดลองเรื่องนี้ (หลังจากที่กบตายไปแล้วหลายตัว) ซึ่งถือว่าเป็นอันยุติ กล่าวคือProfessorDouglas Meltonแห่งHarvardได้ทดลองและสรุปว่าไม่ใช่เรื่องจริง เพราะ “กบโดดออกมาจากหม้อเมื่อน้ำร้อนขึ้น มันไม่นั่งอยู่เพื่อเอาใจมนุษย์ และถ้าโยนกบลงไปในหม้อน้ำเดือดมันไม่โดดออกมาแน่นอน เพราะมันตายแล้ว”
ในU-Tubeท่านผู้อ่านอาจเห็นการทดลองเรื่อง “กบในน้ำเดือด” โดยแสดงให้เห็นว่ากบไม่ได้โดดออกมาจนลอยตายอยู่ในน้ำเดือด ขอเรียนว่าเป็นการทดลองที่เก๊ เพราะตอนจบมีข้อความบอกว่าไม่มีกบตายจริง ซึ่งก็หมายความว่ากบในหม้อน้ำเดือดเป็นกบยาง นี่คือคำสารภาพว่าเป็นการทดลองที่เชื่อถือไม่ได้
ถึงมันจะเป็นเรื่องไม่จริง แต่ก็สามารถนำไปคิดต่อยอดและใช้เตือนใจผู้คนได้ดี (ตราบที่รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะมันอาจเป็นเรื่องของการปล่อยไก่มากกว่าต้มกบ) ดังที่มีคนนำไปใช้ในคำว่าcreeping normalityซึ่งหมายถึง “การคืบคลานสู่ความเป็นปกติ” กล่าวคือคนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติได้หากมันเกิดขึ้นช้า ๆ โดยไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง เล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงอย่างมากและอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ๆ แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ยอมรับ
Jared Diamondนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานเรืองชื่อ Gun, Germs, and Steel (1997) อธิบายโดยใช้แนวคิดcreeping normalityว่าเหตุใดใน ระยะยาวสิ่งแวดล้อมจึงเลวร้ายลงได้จากการตัดต้นไม้โดยดูเหมือนว่าผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินขาดความมี เหตุมีผล
Diamondอธิบายว่าเมื่อเริ่มตัดต้นไม้เพราะมีประชากรอยู่อาศัยมากขึ้นก็จะตัดไปทีละเล็กทีละน้อย กว่าต้นไม้ต้นใหญ่ต้นสุดท้ายจะถูกตัดลง ประโยชน์ของมันก็หมดความสำคัญเชิงเศรษฐกิจไปนานแล้ว ที่เหลือก็คือต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยที่พอมีให้ตัดเป็นประจำจนไม่มีใครสังเกตว่าต้นไม้ใหญ่นั้นมันไม่มีเหลืออยู่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยที่สำคัญของมนุษย์ก็คือคุณธรรมหลักที่อยู่ในใจของ แต่ละคน คงไม่มีcreeping normalityใดที่เลวร้ายไปกว่าการเห็นคนเลวและความเลวเป็นเรื่องธรรมดาและสังคมเห็นว่าคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติไม่มีอะไรที่คงที่เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ สิ่งสำคัญก็คือต้องระวังให้มันเปลี่ยนแปลงทีละน้อยไปในทิศทางที่เป็นคุณแก่สังคมและตนเอง
ไม่ว่า “กบในน้ำเดือด” เป็นเรื่องจริงทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดก็คืออะไรที่ฆ่ากบ คำตอบไม่ใช่น้ำร้อนแต่เป็นความไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะกระโดดออกมาเมื่อใด ถ้าหากโดดออกมาแต่เมื่อเริ่มร้อนก็รอด แต่ถ้าหากลังเลความร้อนก็จะทำลายเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อจนทำให้โดดออกมาไม่ได้ มนุษย์ก็เช่นกันต้องอยู่ในความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ๆ และต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจสำคัญ ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างหรือตัดความสัมพันธ์ การเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนงาน การพัฒนาตนเอง การลงมือปฏิบัติในบางเรื่อง ฯลฯ หรือยังรอ ไปก่อน มนุษย์ทุกคนจึงล้วนเป็น “กบในน้ำเดือด” ที่ต้องตัดสินใจกระโดดอย่างถูกเวลาด้วยกันทั้งนั้น
ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงในด้านวัตถุนิยมอย่างรวดเร็วจนเข็มทิศศีลธรรมชำรุด กบก็สามารถมีคำสอนให้มนุษย์ได้ว่าสิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละน้อยในตนเองในทางลบอย่างมิได้สังเกตเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอ ทัศนคติ ค่านิยม วัตรปฏิบัติ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยกันทำให้แขนขาเป็นอัมพาตเพราะจมปลักอยู่กับความเสื่อม จนไม่สามารถโดดออกจากหม้อน้ำที่กำลังร้อนขึ้นทุกทีได้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าทุกเรื่องที่ได้ยินอาจไม่เป็นจริงแต่ก็สามารถเอามาหาประโยชน์ได้ตราบที่เราไม่ด่วนปฏิเสธด้วยจิตที่คับแคบ ทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์จากแต่ละแง่มุมของมัน