สร้างทักษะใหม่รับอนาคต หนุนมนุษย์ทำงานร่วมหุ่นยนต์

สร้างทักษะใหม่รับอนาคต หนุนมนุษย์ทำงานร่วมหุ่นยนต์

ปีนี้เป็นปีที่กระแสหุ่นยนต์มาแรงทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย

โดยเฉพาะไทยเองที่จัดให้หุ่นยนต์เป็นอุตสาหกรรม 1 ใน 10 “S-Curve” ที่จะสร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ 

โดยวางเป้าหมาย 10 ปี หรือ 2569 ว่าจะขึ้นแท่นไปเป็นผู้นำการผลิตและการใช้หุ่นยนต์ในอาเซียน ทั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและบริการ และในระยะกลางห้าปี หรือภายใน 2564 หวังจะให้เกิดการลงทุนสองแสนล้านบาท มีโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์มากกว่าครึ่ง

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2557 ที่ผ่านมานั้น พบว่าไทยมีการใช้งานหุ่นยนต์ 3,700 ตัว อันดับ 8 ของโลก และอันดับ 5 ในเอเชีย หากมองความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ต่อประชากร ไทยมีการใช้ 53 ตัวต่อประชากรหมื่นคน เทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 69 ตัว ขณะที่ในระดับโลกกระแสความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้การผลิตหุ่นยนต์มีปริมาณมากขึ้นโดยคาดการณ์ว่า 61.4 ล้านตัวในปี 2563 จาก 8.8 ในปี 2558

เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีปลายเดือนส.. อนุมัติให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้จะลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในอัตรา 50% สำหรับกิจการหุ่นยนต์ที่มีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการ ทั้งจะยกเว้นภาษีเงินได้ 300% เพื่อสนับสนุนการวิจัยหุ่นยนต์ เพื่อสร้างความต้องการใช้งานในประเทศ

นอกจากนั้น รัฐยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรมารองรับการทำงานในตลาดที่กำลังจะเติบโตขึ้น ผ่านสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ ฝั่งของอุปทานเร่งเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบออกแบบการติดตั้งระบบอัตโนมัติหรือ System Integration (SI) ให้เพิ่มเป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมีอยู่เพียง 200 รายเท่านั้นด้วย

หุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มให้การทำงานของโรงงานต่างๆ เป็นอัตโนมัติมากขึ้น ทำงานส่วนเป็นอันตราย งานที่ต้องทำซ้ำ ช่วยให้ธุรกิจลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ลดความเสี่ยงจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มผลิตภาพ พร้อมลดของเสียที่ได้จากการผลิต และช่วยกรุยทางนำไปสู่การพัฒนาที่เป็น “อุตสาหกรรม 4.0”

แน่นอนว่า มีความกังวลว่าจักรกลเหล่านี้ จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์หรือไม่ ที่ปฏิเสธคือมาแทนแรงงานที่ไม่มีมูลค่า งานที่ต้องทำซ้ำ ซึ่งคนส่วนนี้จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ (reskill) ที่มีคุณค่ามากขึ้น

แรงงานที่เดิมเคยทำงานแบบงานประจำ หรืองานรูทีนนั้น จำเป็นจะต้องยกระดับการทำงานแบบอินเตอร์แอคทีฟ และต้องใช้ทักษะอ่านเขียนและความรู้ดิจิทัลมากขึ้น จากการแก้ไขปัญหาแบบล้ำหน้า การคิดสร้างสรรค์ คิดเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงทักษะด้านสังคมและพฤติกรรม ส่วนงานบริหารทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องวางบันไดอาชีพของแต่ละส่วนงานและบุคคลไว้เพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลง สรรหาทาเล้นท์ที่มีความสามารถเหมาะกับองค์กร

ดังนั้น การส่งเสริมการเรียนการสอนบูรณาการแบบสหสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่มาช่วยฝึกให้เด็กเรียนรู้การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ยุคที่มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักร และ เป็นทักษะที่จักรกลอัจฉริยะยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้