เศรษฐกิจและจิตใจ
ปัญหาของประเทศมี 2 ประการ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาจิตใจ
ปัญหาจิตใจ ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้ ประชาชนต้องมีเหตุมีผล ต้องละซึ่งความอยากได้อยากเป็นจนไม่มีเหตุผล หากคนส่วนใหญ่โกรธแค้นเกลียดชังกัน ถึงขั้นใส่ร้ายกัน ประเทศก็ต้องล่มจม ความลุ่มหลงของผู้มีอำนาจ
การที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็คือ กิเลส ที่ฝังอยู่ในใจของปุถุชนทั่วไป ยิ่งทำบ่อย ทำจนเคยชิน กิเลสเหล่านี้ก็จะพอกพูนยิ่งขึ้น จนคิดว่าใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น กลุ่มผู้นำประเทศต้องศึกษาเรื่องวิธีการทางจิตใจด้วย เพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีเป็นอริยชน ประเทศก็จะเจริญ ปัญหาคอร์รัปชันและเล่นพรรคเล่นพวกของผู้มีอำนาจ เกิดมาจากกิเลส จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ย่ำแย่มีฐานะยากจน ไม่มีความยุติธรรมในสังคม มิตรประเทศไม่คบหา
การแก้ไขปัญหาเรื่องจิตใจทั้งของระดับผู้นำและประชาชนนั้น ทำได้โดยการสร้างบุญ อันได้แก่ ทำบุญ รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา การทำทานจะทำให้จิตใจดีขึ้นจะลดการคอร์รัปชันลง การรักษาศีลจะทำให้ความอาฆาตมาตร้ายลดลง ที่ลึกกว่านั้นคือ การนั่งสมาธิให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง จะทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงจากการคิดแบบปุถุชน เป็นคิดแบบอริยชน เปลี่ยนจากคนไม่ดีเป็นคนดี และคนที่ดีอยู่แล้วก็จะเป็นคนดียิ่งขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจในระดับครอบครัว คือจะผลิตให้มีรายได้ได้อย่างไร ลูกหลานในบ้าน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ต้องสามารถผลิตและขายสินค้าได้ในตลาดที่แข่งขัน ได้งานทำตามความรู้ความสามารถ ดังนั้นราคาสินค้าที่ขาย ก็ต้องแข่งขันได้ ราคาไม่แพงเกินไปจนไม่มีใครซื้อ
ในระดับประเทศก็เช่นเดียวกัน ประชาชนต้องสามารถขายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศได้ในราคาที่แข่งขัน การดูแลค่าเงินบาทจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากค่าเงินบาทแพงเกินไป ก็จะทำให้สินค้าของไทยเกือบทั้งหมดราคาแพงมาก จนไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีรายได้มาเสียภาษี มาซื้อสินค้าต่างๆ ที่ผลิตขายในประเทศ ผลคือทำให้ประเทศยากจนไม่เจริญเติบโต ไม่มีเงินจ้างข้าราชการ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ต้องไปกู้มา หากกู้มามากก็จะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้มากเกินไป ทำให้สถานภาพทางการคลังอ่อนแอลง จนอาจถูกโจมตีค่าเงินได้อีก
การทำค่าเงินบาทให้แข่งขันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะทำให้สินค้าของประเทศไทยแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ ค่าเงินบาทที่แข่งขันยังทำให้สินค้าที่ขายเป็นเงินตราต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น คนในชาติก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น บริษัทได้เงินบาทมากขึ้นจากการส่งออก ก็สามารถจ่ายค่าจ้างในรูปเงินบาทได้มากขึ้น รัฐมีรายได้ภาษีมากขึ้น
รัฐสามารถนำเงินภาษีมาสร้างโครงสร้างบริการพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน แหล่งน้ำ ระบบรถไฟฟ้า รถไฟ รถไฟความเร็วสูง ไฟฟ้า ประปา และยังมีเงินที่จะให้บริการประชาชนตามหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ การป้องกันประเทศและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การอำนวยความยุติธรรม และการศึกษาและการสาธารณสุข
เศรษฐกิจภาคเอกชนและประชาชน เมื่อขายสินค้าได้มากขึ้น มีกำไรรวมมากขึ้น ก็จะมีเงินออมมากขึ้น จะเร่งเพิ่มพูนเทคโนโลยีให้สูงขึ้นด้วยตนเอง ทั้งทางด้านทรัพยากรมนุษย์และด้านเครื่องมือเครื่องจักร ความกินดีอยู่ดี ของประชาชนจะเพิ่มพูนดีขึ้น สามารถส่งให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ มีความรู้ความสามารถสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้ฐานะและรายได้ของคนรุ่นต่อไปสูงขึ้นมาก ประเทศจะสามารถขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงและพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
รัฐบาลไทยใช้นโยบายการคลังเป็นส่วนใหญ่มาตลอด นโยบายการคลังมีข้อจำกัดที่ภาระหนี้รัฐบาลต้องไม่มากเกินไป เราแทบไม่เคยใช้นโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เพราะมีผู้เข้าใจว่าจะต้องดูดสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจให้เหลือเท่าเดิมเสมอ เช่น รัฐบาลกู้เงินจากต่างประเทศมาเพื่อสร้างโครงการบริการพื้นฐาน มีผลทำให้ปริมาณเงินบาทเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางก็จะดูดเงินบาทเหล่านั้นออกจากระบบเศรษฐกิจไป ความเจริญเติบโตอันเป็นผลจาก Multiplier Effects ก็น้อยลง โครงสร้างบริการพื้นฐานอาจเกิดขึ้นโดยการเป็นหนี้ต่างประเทศ แต่ประชาชนขายสินค้าไม่ได้ เพราะระบบเศรฐกิจขาดสภาพคล่องไม่มีเงินอยู่ในมือของประชาชน และค่าเงินบาทก็แข็งขึ้นด้วย
ในประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าญี่ปุ่นในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เกาหลีในในทศวรรษที่ 1970 จีนในในทศวรรษที่ 1990 และแม้แต่สหรัฐในปีค.ศ. 2008-2016 ประเทศเหล่านี้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการฟื้นสภาพคล่องทั้งสิ้น วิธีการก็เหมือนๆ กัน คือ การเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
สหรัฐใช้สภาพคล่องแก้ไขปัญหาระบบเศรษฐกิจล้มละลายในปีค.ศ. 2008 เป็นเวลากว่า 8 ปีมาแล้ว สภาพคล่องที่ใช้ เรียกว่า QE (Quantitative Easing) คือการนำเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปซื้อพันธบัตรในตลาด ให้มีสภาพคล่องอยู่ในมือเอกชนและประชาชนมากขึ้น เพื่อฟื้นการลงทุนและการบริโภค ซึ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นขึ้นมาได้ โดยในปีค.ศ. 2017 นี้ มีอัตราการว่างงานเพียง 4.2% ต่ำสุดในรอบหลายปี
ผลพลอยได้ของการทำ QE ก็คือค่าเงินอ่อนลง ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย การใช้ QE ทำให้ฐานเงิน (Monetary base) เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ใช้เวลาหลายปี(กว่า 4 ปี) กว่าจะกระทบปริมาณเงิน (Money supply: M2) และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผู้บริหารนโยบายการเงินที่มีความรู้และประสบการณ์สามารถควบคุมได้
ประเทศจีนในในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ใช้การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริง ทำให้ส่งออกได้มากมาย รายได้จากการส่งออกเหล่านั้นก็มาเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ยังมีเงินตราต่างประเทศเหลือเฟือ ปัจจุบันประเทศจีน มีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านเหรียญฯ สามารถทำโครงการเส้นทางสายไหมคริสต์ศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) คือ การไปสร้างถนน ท่าเรือ โรงงานผลิตไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลน
โดย...
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช