แกะรอย..หนี้เสียบ้าน ระวังซ้ำรอย ‘ซับไพร์ม’
ว่ากันว่า “สินเชื่อบ้าน” เป็นสินเชื่ออย่างสุดท้ายที่คนจะปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เพราะบ้านถือเป็น “ปัจจัยสี่” ในการดำรงชีวิต
แต่จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่า สินเชื่อบ้าน เป็นสินเชื่อที่มี “หนี้เสีย” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับเศรษฐกิจที่เติบโตดี
สัดส่วนหนี้เสียหรือ “เอ็นพีแอล” สินเชื่อบ้าน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 อยู่ที่ 3.26% เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 3 ปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 2.81% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ 2.6% เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สินเชื่อบ้านถือเป็นพอร์ตสำคัญของธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของสินเชื่อครัวเรือน และมีสัดส่วนราว 17% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
การเพิ่มขึ้นของ “หนี้เสีย” กลุ่มที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องตามดูใกล้ชิด ซึ่งเร็วๆ นี้ ธปท. จะประกาศตัวเลขไตรมาส 4 ปี 2560 ออกมา ..ต้องไปลุ้นกันว่าหนี้เสียของสินเชื่อกลุ่มนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่
ประเด็นที่น่าคิด คือ เหตุใดหนี้เสียที่อยู่อาศัยจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง? ..ในรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2560 ให้ “ข้อสังเกต” ไว้ 3 ประเด็น
1.ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ารายได้ของครัวเรือน ทำให้ผู้กู้ซื้อบ้านต้องแบกรับมูลหนี้ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ
2.ผู้ขอกู้โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำมีภาระผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนที่ค่อนข้างสูง โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ภาระการผ่อนแต่ละเดือนปรับขึ้นมาอยู่ที่ 41% ของรายได้ สะท้อนความเปราะบางของครัวเรือน
3.มูลค่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน(แอลทีวี) ที่ธนาคารพาณิชย์ให้โดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้น โดยสินเชื่อที่ได้รับ แอลทีวี สูงกว่า 90% มีสัดส่วนสูงขึ้นจาก 34% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 44% ในไตรมาส 3 ปี 2560
รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า จำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ ทั้งระดับเงินออมหรือสินทรัพย์ที่รองรับในภาวะวิกฤตที่บางลง ตลอดจนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของภาคครัวเรือนที่ลดลงในภาพรวม
น่าสังเกตว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ยังแข่งขันรุนแรงในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มที่อยู่อาศัย มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “teaser rate” คือ ผู้ขอกู้สามารถผ่อนชำระได้ในอัตราต่ำช่วง 3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นอัตราผ่อนชำระจะสูงขึ้น ทำให้ภาระการผ่อนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้กู้ตั้งความหวังว่า เมื่อครบ 3 ปีไปแล้ว จะขอ “รีไฟแนนซ์” หนี้ก้อนนี้ใหม่ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม
ประเด็นนี้นับเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง และต้องไม่ลืมว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สหรัฐ ซึ่งรู้จักกันในนาม “ซับไพร์ม” ก็มี “จุดเริ่มต้น” จากการกู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูงในลักษณะนี้ โดยเฉพาะระดับ “หนี้สินของผู้กู้ที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้” เรียกว่าไม่ต่างจากไทยในเวลานี้มากนัก เราเองจึงควรต้องระวังปัญหาซ้ำรอย!