ธุรกิจแท็กซี่คือธุรกิจเช่าซื้อ
แท็กซี่มีบทบาทอย่างมากต่อการให้บริการรับส่งผู้โดยสารในเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร แต่จากข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป
ผู้ใช้บริการยังต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่การปฏิเสธผู้โดยสาร ความประมาทในการขับขี่ รวมถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของพนักงานขับรถแท็กซี่ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงคุณภาพของผู้ขับแท็กซี่ โดยการคัดเลือกและการฝึกฝนคนขับแท็กซี่ ล้วนเป็นหน้าที่และภาระหลักของผู้ประกอบการธุรกิจ
เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไข อย่างแรกต้องเข้าใจโครงสร้างการประกอบการรถแท็กซี่ว่า มีผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพอยู่ไม่มากนัก แต่เดิมแท็กซี่ในกรุงเทพฯ อยู่ในลักษณะของบุคคลและอู่แท็กซี่ แต่เมื่อในปี 2535 กรมการขนส่งทางบกได้มีการกำหนดรูปแบบของโดยอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการแท็กซี่ที่เป็นนิติบุคคลในการจดทะเบียนและดำเนินธุรกิจ ทำให้อู่แท็กซี่ต่างๆ รวมตัวกันและจดทะเบียนในรูปแบบของสหกรณ์ เช่นเดียวกับบริษัทเช่าซื้อที่ได้เห็นประโยชน์จากกลไกดังกล่าว ทั้ง 2 กลุ่ม จึงกลายเป็นกลุ่มหลักของโครงสร้างธุรกิจแท็กซี่ในปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า ในทางกฎหมายผู้ประกอบการแท็กซี่ จะประกอบด้วยผู้ประกอบการนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกรณ์แท็กซี่ และการจดทะเบียนในนามของแท็กซี่ส่วนบุคคล แต่ในความเป็นจริงแล้วโครงสร้างตลาดของรถแท็กซี่จะมีนายทุนให้บริการรถแท็กซี่ เพื่อการเช่าขับและเช่าซื้อ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของ เถ้าแก่ อู่รถแท็กซี่ หรือบริษัทเช่าซื้อ ดังนั้นรายได้ของนายทุนเหล่านี้จะมาจากค่าเช่าขับและดอกเบี้ยจากการให้เช่าซื้อรถ ผู้ประกอบการแท็กซี่จึงต้องทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้รถแท็กซี่ถูกเช่า ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพผู้เช่าขับหรือคนขับแท็กซี่ อันนำไปสู่ปัญหาการให้บริการในปัจจุบัน
หากเป็นไปตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป พฤติกรรมหรือการกระทำต่างๆ ของผู้ประกอบการ (Firm) มักคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่ได้จากผู้ใช้บริการ กล่าวคือ ธุรกิจจะอยู่ได้ในระยะยาวก็ด้วยการประชาสัมพันธ์ การตลาด การบอกปากต่อปาก และประสบการณ์ที่ผู้โดยสารได้รับ พนักงานหรือคนขับแต่ละคนที่อยู่ภายใต้ผู้ประกอบการเหล่านี้ จะคำนึงถึงมุมมองของผู้โดยสารต่อการบริการเป็นสำคัญ เพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการอีกครั้ง หรือแนะนำคนอื่นๆ ถึงการบริการที่ดีที่ตนได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการแข่งขันกัน พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการที่ดีและมีคุณภาพ พร้อมทั้งผลักดันผู้ประกอบการที่แย่ออกจากตลาด
แต่ในอุตสาหกรรมแท็กซี่ของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการรายย่อยจำนวนมาก ทั้งที่เป็นผู้เช่ารถจากอู่หรือสหกรณ์และผู้ที่เป็นเจ้าของรถเอง ผู้ให้บริการหรือคนขับเหล่านี้มักปฏิบัติต่อผู้โดยสารเสมือนกับว่า จะไม่ได้เจอกับผู้โดยสารรายนั้นๆ อีก มีแนวโน้มที่จะใช้เส้นทางที่อ้อม เก็บค่าโดยสารแพงในอัตราที่แพงขึ้น รวมทั้งปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีโอกาสน้อยที่จะกลับมาใช้บริการ รวมทั้งไม่รู้เส้นทาง และไม่น่าจะรู้ช่องทางในการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้ให้บริการย่อยจำนวนมากเช่นนี้ ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่ได้จากผู้ใช้บริการ และผู้โดยสารมักไม่สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ที่ให้บริการที่ดีกว่าได้ หรือการรอผู้ให้บริการที่ดีต้องใช้เวลาในการรอรถนานเกินไป เนื่องจากมีจำนวนน้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ส่งผลให้ผู้ให้บริการที่แย่ ไม่มีคุณภาพ กีดกันผู้ให้บริการที่ดี และมีคุณภาพออกจากตลาด หรือทำให้ผู้ให้บริการที่ดีต้องปรับลดคุณภาพการให้บริการลงเพื่อให้สามารถแข่งขันอยู่ในตลาดได้
เราจะสังเกตเห็นว่า “สี” ของแท็กซี่แต่ละคันที่ให้บริการอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างสีสันให้กับท้องถนนของกรุงเทพมหานครแล้ว สีของแท็กซี่ยังช่วยบ่งบอกถึงผู้ให้บริการแต่ละราย เช่น การเป็นรถแท็กซี่ส่วนบุคคล หรือการเป็นรถที่สังกัดอยู่ภายใต้สหกรณ์/บริษัทแต่ละแห่ง แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถ “เลือก” ผู้ให้บริการที่ดีและมีคุณภาพได้ เนื่องจากรถแท็กซี่แต่ละสีหรือรถแท็กซี่ของแต่ละผู้ให้บริการ มักมีคุณภาพการให้บริการอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น การปฏิรูปโครงสร้างการประกอบการจึงจำเป็นต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการให้บริการของแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยรูปแบบการประกอบการที่ดี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแล เพิ่มแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการ และเพิ่มการรับผิดชอบ (Accountability) ต่อผู้โดยสารของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการคัดกรองคนขับที่ดีและมีคุณภาพ และอาจจัดให้มีการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการให้บริการ เช่น ภาษา หรือการปฏิบัติต่อผู้โดยสาร เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ระบบการกำกับดูแลจำเป็นต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อคัดกรองผู้ประกอบการที่ดีให้อยู่ในตลาด ผลักดันผู้ประกอบการที่ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพออกจากตลาด ซึ่งนอกจากระบบตัดแต้มคนขับ (Demerit Point System) ที่ต้องมีการประยุกต์ใช้ควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานการบริการแล้ว ยังควรต้องมีการประเมินผู้ประกอบการแต่ละราย ผ่านการวัดประสิทธิภาพของการใช้รถแท็กซี่ (Utilization Rate) ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการให้บริการในระยะยาว และยังช่วยลดจำนวนผู้ประกอบการ รวมทั้งจำนวนรถแท็กซี่ที่มีประสิทธิภาพของการให้บริการอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ให้รายได้โดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแท็กซี่สูงขึ้น
โดย...
ชลวิทย์ พันธ์ภักดีดิสกุล
พรพิมล ตินะน้อย