เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ
เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ Self-Driving Car หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Autonomous car เป็นเทคโนโลยีในอนาคต
ที่กำลังจะกลายเป็นจริงในเร็ว ๆ นี้ เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและผู้ผลิตรถยนต์เริ่มมีแนวคิดผสานกัน อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรับส่งข้อมูลได้ในปริมาณมหาศาลและรวดเร็ว ภายใต้ระบบ “เรดาร์ โรด ซิกเนเจอร์” ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจุดสะท้อนนับหลายพันล้านจุด ณ ตำแหน่งที่สัญญาณเรดาร์ตกกระทบ อาทิ แนวรั้วกั้นถนน หรือสัญญาณจร จึงส่งผลให้รถยนต์ไร้คนขับกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในอนาคต
รถยนต์ไร้คนขับจะเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่รายบุคคลให้กลายเป็นรูปแบบการขับขี่ที่คำนวณเป็นระบบได้ กล่าวคือสามารถควบคุมยานพาหนะทั้งหมดบนท้องถนนและประเมินระบบการจราจรโดยรวมเพื่อที่จะพิจารณาว่ารถแต่ละคันควรจะทำงานแบบใด มีผลทำให้ การจราจรคล่องตัว และ เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น โดยมีความเชื่อหลักที่ว่าเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับนี้จะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนที่อาจทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนส่วนใหญ่ที่อาจทำให้ถึงชีวิตนั้นมักจะเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์เอง ความประมาทนี้อาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลักๆ คือ 1. เกิดจากความไม่พร้อมใช้งานของตัวรถยนต์ ส่วนมากมักเกิดจากผู้ขับขี่ไม่ตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และ 2. ความไม่พร้อมของตัวผู้ขับขี่เอง ตัวอย่างเช่น ความเหนื่อยล้าจากการขับขี่ ความมึนเมา หรือ ความไม่ชำนาญในการขับขี่
หากนำระบบเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับมาใช้จะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทในกรณีข้างต้นได้ และยังช่วยทำให้เกิดข้อดีต่าง ๆ อีกมากมาย กล่าวคือ
- ท้องถนนจะมีความปลอดภัยมากขึ้น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่รับรู้และตอบสนองต่อสภาพภายนอกได้อย่างรวดเร็วนั้นย่อมจะช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น
- การจราจรและการใช้เชื้อเพลิงจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การตัดสินใจของระบบอัตโนมัติจะทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยการเบรกและเร่งอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น
- มีเวลามากขึ้น เมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผู้ใช้งานสามารถนำเวลาในการเดินทางไปทำอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่ และการที่รถอัตโนมัติช่วยลดการเกิดรถติด จะทำให้เวลาในการเดินทางสั้นลง
- ไม่จำเป็นต้องไปสอบใบขับขี่อีกต่อไป จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการไปเรียนขับรถตามโรงเรียนสอนขับรถต่างๆ
- ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ เด็ก คนชรา และคนพิการเพิ่มมากขึ้น
- สามารถขับขี่ในภาวะวิสัยแย่ๆได้ เช่น กรณี พายุหิมะ ฝนตกหนัก หรือ ในเวลากลางคืนช่วงที่ไม่มีไฟข้างทางช่วยส่องทางให้
- ไม่ต้องเสี่ยงในการติดคุกติดตะรางจากคดีอาญาเพราะขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
จึงเห็นได้ว่าหากมีระบบเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับที่จะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตนับพันๆรายและลดการบาดเจ็บทางร่างกายอย่างร้ายแรงได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก่อนจะถึงตอนนั้นเราจำเป็นต้องมีนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีนี้ ลองจินตนาการถึงรถยนต์ที่ไม่มีใครบังคับหลังพวงมาลัยเฉี่ยวชนกับรถยนต์ไร้คนขับคันอื่น คำถามคือใครต้องรับผิด? คำตอบคือไม่มีใครรู้ เพราะในประเทศไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าใครเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดจากการละเมิดที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้น แน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมต้องฟ้องผู้ผลิตรถยนต์ ผู้พัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ และผู้รับประกันให้ร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 5 พ.ร.บ. ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และอ้างว่าผู้บริโภคไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะไม่ใช้บุคคลที่ควบคุมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ส่วนผู้ผลิตจำเป็นจะต้องพิสูจน์สิ่งที่สำคัญให้ได้ว่า โปรแกรมหรือการออกแบบระบบปฏิบัติการไร้คนขับสามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและมีการทดสอบให้เห็นอย่างเพียงพอว่ารถที่ทำงานไร้คนขับสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยเหมือนกับรถยนต์ทั่วไป อีกทั้ง ผู้ผลิตจะต้องเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดสำหรับความผิดพลาดของยานพาหนะไร้คนขับ ผู้ผลิตจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อความผิดพลาดจากการประกอบรถที่ไม่ได้มาตรฐาน ความผิดพลาดการทำงานระบบปฏิบัติการจากการเขียนโปรแกรมหรือการถูกเจาะระบบข้อมูลโดยบุคคลที่สาม ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวข้างต้น
ความไม่แน่นอนของกฎหมายนี้เองย่อมทำให้ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ความไม่แน่นอนทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดจะตกอยู่กับผู้ผลิตหรือไม่ ทำให้ผู้ผลิตจำต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้น และเพิ่มราคาขายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นผลให้ความต้องการของผู้บริโภคลดลงสำหรับเทคโนโลยีนี้ หรืออีกทางหนึ่ง ผู้ผลิตสามารถลดความเสี่ยงโดยการประกันหนี้สินละเมิด ซึ่งส่งผลให้บริษัทประกันภัยรถยนต์เองก็ต้องเก็บเบี้ยประกันรายปีที่ปรับความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อประกันรถยนต์ที่ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันในการเตือนเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชน
กล่าวโดยสรุปความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญได้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแต่มีความกังวลอย่างกว้างขวางว่าอัตราการพัฒนาจะถูกขัดขวางโดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกฎหมายหรือความรับผิดของผู้ผลิตเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ ความไม่แน่นอนนี้เองดูเหมือนจะเป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการพยายามคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นว่าความรับผิดในทางละเมิดหรืออาญาจะตกอยู่ที่ผู้ผลิตหรือไม่เพียงใด จึงมีความจำเป็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติทั่วโลกต้องสร้างกรอบกฎหมายใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ มิเช่นนั้นแล้ว ผู้คิดค้นและผู้ผลิตจะหยุดการพัฒนาเพราะไม่ต้องการที่จะรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดย...
ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์