คิดถึงบ้าน คิดถึงนายผี (อัศนีย์ พลจันทร์)
งาน 100 ปีชาติกาลนายผี (อัศนีย์ พลจันทร์ 2461-2530) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2561 ค่อนข้างเป็นงานเล็ก
มีคนไปร่วมและมีการกล่าวขวัญถึงทางสื่อต่างๆ น้อย ส่วนหนึ่งเพราะคนรุ่นหลังที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ รู้จักเขาน้อย ส่วนหนึ่งเพราะธรรมศาสตร์เองอาจประชาสัมพันธ์เรื่องนี้น้อยด้วย ถ้าเราไม่ช่วยกันส่งเสริมคนรุ่นใหม่ของเราสนใจอ่านหนังสือ อ่านบทกวี อนาคตของประเทศไทยคงจะโหวงเหวง
อัศนีย์ พลจันทร์ เป็นอัยการ กวี นักเขียนหัวก้าวหน้าที่มีผลงานและบทบาทมากที่สุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี 2501 งานที่คนรุ่นปัจจุบันน่าจะรู้จักมากที่สุดคือเพลงชื่อ “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” ที่คาราวาน นักร้อง, วงดนตรีอีกหลายวงนำมาเผยแพร่หลังจากนักศึกษากลับจากป่าราวปี 2524-2525 แต่หลายคนก็รู้เพียงว่าเป็นเพลงของคาราวานหรือของวงนั้นวงนี้
บทกวีของนายผีที่คนรุ่นเดือนตุลาเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วจำได้มากที่สุดคือ “อีศาน” เขียนปี 2495
“ในฟ้าบ่มีน้ำ! ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย คือเลือดหลั่งลงโลมดิน สองมือเฮามีแฮง เสียงเฮาแย้งมีคนยิน สงสารอีศานสิ้น อย่าซุด, สู้ด้วยสองแขน! พายุยิ่งพัดอื้อ ราวป่าหรือราบทั้งแดน อีศานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?”
อัศนีย์ พลจันทร์ มาจากครอบครัวลูกหลานเจ้าเมืองเก่าที่ราชบุรี เรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จบ มธก. ปี 2483 ทำงานเป็นอัยการอยู่ 12 ปี (เขียนหนังสือด้วย) ก่อนที่จะลาออกไปเป็นนักเขียนอิสระและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายในปลายปี 2495 เป็นนักอ่าน นักวรรณคดีที่รอบรู้ เขียนทั้งกาพย์กลอน เรื่องสั้น บทความ โดยใช้ชื่อแฝงหลายชื่อ ชื่อนายผีนั้น เขาหมายถึงผู้เป็นนายของปีศาจคือ พระศิวะ งานเขียนที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นบทกวีขนาดยาวเรื่อง เราชะนะแล้วแม่จ๋า (2495) ซึ่งคณะนักวิจัยที่ได้ทุนจาก สกว. คัดเลือกในปี 2540-1 ให้เป็น 1 ในหนังสือร้อยชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่าน
เราชะนะแล้วแม่จ๋า เป็นบทกวี (ฉันท์, กาพย์) ขนาดยาวคล้ายบทละคร กล่าวถึงเรื่องกรรมกรหญิงผู้เข้าร่วมการนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างสวัสดิการ เธออาศัยอยู่กับแม่และน้องชายที่ป่วยหนักในขณะนั้นพอดี เธอต้องต่อสู้กับความขัดแย้งในใจว่าเธอจะเลิกนัดหยุดงานไปขอหยิบยืมเงินจากนายทุนเพื่อพาน้องไปรักษาตัว หรือจะยืนหยัดต่อสู้กับเพื่อนคนงานเพื่ออุดมการณ์ของส่วนรวม
“เพื่อว่าเรานี้มารวมและร่วมกันว่าจะหยุด งานเรื่อยฤาเฉือยฉุด ไฉน นายห้างเหี้ยมโหด จะโกรธก็บ่กระไร กลัวกรรมกรไกร มาตีฯ ชัยชัยชัย วันพิชิตเพราะคิดแต่สามัคคี สหอาชีวะ วิชัย ชัยชัยชัย เราวิชิต เพราะคิดว่าเราคือใคร กำลังอันเกรียงไกรเรามี”
“คนจนมีจำนวน แม้นประมวลก็มากครัน แสนล้านแลเราอัน ใดจะด้อยให้ดูแคลน คนจนอันกระจาย เรี่ยรายทั่วทั้งดินแดน ลุกแล้วทั้งล้านแสน ก็จะสิ้นที่โศกศัลย์”
เธอตัดสินใจต่อสู้ และสุดท้ายฝ่ายกรรมกรชนะ เมื่อเธอกลับบ้านเพื่อมาบอกว่า เราชนะแล้ว, แม่จ๋า เธอต้องพบทั้งน้องชายและแม่เสียชีวิตจากความเจ็บป่วย นี่คืองานบทละครโศกนาฏกรรม ที่เทียบได้กับโศกนาฏกรรมกรีกยุคโบราณทีเดียว
พรพิไล เลิศวิชา หนึ่งในคณะนักวิจัยโครงการหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่าน เขียนว่า “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า ร่ำรวยถ้อยคำและฉันทลักษณ์อันเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยอยุธยา นายผีนำเอาความงดงามอหังการ์ของกวีสมัยอยุธยาซึ่งเป็นวรรณกรรมราชสำนักมาใช้กับวรรณกรรมของสามัญชนชั้นล่างได้อย่างกลมกลืน”
บทกวีขนาดยาวที่เด่นอีกชิ้นหนึ่งคือ เรื่อง “ความเป็นไป” กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของตระกูลพลจันทร์และพลกุล ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นเจ้าเมืองราชบุรี สะท้อนทั้งชีวิตขุนนางที่รักชาติ และไพร่ที่ยากลำบาก
“ไถลากลำบากหลาย แลโคควายก็กินเกลี้ยง แอกแบกจนบ่าเอียง และลูกนานี้กินใด ในน้ำนะมีปลา และในนานะข้าวใคร ของเรานะอันไร เป็นสุดรู้ละอกอา แผ่นดินนี่ของเขา และตัวเราก็เถิดหนา ตุ๊ะอ้างอนัตตา ใช่ตัวตนของเรามี ตัวเราและเขาเลี้ยง ก็คือสัตว์ของเขาซี ฮ้า!เกิดมาทั้งที ก็เป็นทาสที่ชื่อไทย”
นายผียังเขียนกาพย์กลอนสั้นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคม, บทวิจารณ์ ด้านวรรณกรรมและบทความอื่นๆ รวมทั้งแปลเรื่องภควคีตา, จิตรา กาพย์กลอน เหมา เจ๋อ ตุง งานส่วนใหญ่ของนายผีอาจจะเหมาะสำหรับนักอ่านบางกลุ่มและคนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์วรรณกรรมมากกว่าผู้อ่านทั่วไปในยุคปัจจุบันได้ เพราะนายผีเป็นคนที่คิดแปลก ใช้ภาษาแปลกๆ ส่วนหนึ่งเขาเชื่อเรื่องปรัชญาแนวสังคมนิยมตามตำรา ส่วนหนึ่งชื่นชมกับวรรณกรรมสันสกฤต เช่น มหาภารตะ (ธรรมศาสตร์ร่วมมือกับสำนักพิมพ์อ่านพิมพ์งานทั้งหมดของนายผีรวม 20 เล่ม)
นายผีเป็นปัญญาชนรุ่นแรกๆ ที่คงทำงานใต้ดินกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตั้งแต่ปี 2496 เขาได้ไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์เลนินที่ปักกิง กลับมาเขียนหนังสือและเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ อยู่ระยะหนึ่ง และหลบเข้าป่าเขตปฏิวัติไปในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์(2501) เขาไปทำรายการวิทยุเสียงประชาชนไทย มีงานเขียนออกมาบ้าง แต่เป็นไปตามแนวนโยบายพคท. เมื่อ พคท. ยุติการต่อสู้กับรัฐบาลในราวปี 2525 นายผีเดินทางจากป่าไปอยู่ลาวและอยู่ต่อมาจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บในปี 2530 (อายุ 69 ปี)
เพลงคิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) ที่นายผีเขียนทั้งเนื้อร้องและทำนองในป่าเขาสะท้อนความรู้สึกของคนที่จากบ้านไปทำงานปฏิบัติอยู่แดนไกลได้งดงาม และสะเทือนใจไม่เพียงแต่พวกนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น คนไทยจำนวนมากที่ในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานที่อื่น และจากชนบทที่มีความรักความอบอุ่น ไปอยู่ในเมืองใหญ่ที่คนแข่งขันกับแบบตัวใครตัวมัน ต่างก็ประทับใจกับเพลงนี้มากเช่นกัน
“กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว ให้พี่น้องเฮานอนหลับอุ่นสบาย ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้ นำรักจากห้วงดวงใจ ของข้านี้ไปบอกเขานะนา ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้าในอก แม่เอย”
นายผีและนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าในยุคของเขา ไม่เพียงแต่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมที่เป็นธรรมเท่านั้น พวกเขายังต้องการสร้างสังคมที่อบอุ่น ผู้คนอยู่ร่วมกับครอบครัว บ้านเกิดหรือบ้านที่เขาเลือกอยู่ โดยไม่ต้องถูกสถานะการ์ณทางสังคมบีบคั้นให้พวกเขาต้องจากบ้านไปไกลและยาวนาน ความใฝ่ฝันและงานเขียนของนายผีและเพื่อนพ้องน้องพี่ของเขาจะยังคงเป็นดาวที่ส่องแสงรุ่งเรืองสว่างอยู่ในใจของพวกเรา ปัญญาชนที่เลือกเข้าข้างสามัญชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดไป