"ไทย" หุ้นส่วน BRICS ลดเสี่ยงเศรษฐกิจ เตือนถูกเพ่งเล็ง สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า

"ไทย" หุ้นส่วน BRICS ลดเสี่ยงเศรษฐกิจ เตือนถูกเพ่งเล็ง สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า

"นักวิชาการ" มองไทยร่วม BRICS ดันส่งออก นำเข้าเพิ่ม ดึงลงทุนใหม่ "นักเศรษฐศาสตร์" “เตือนเสี่ยงถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม หวั่นถูกมองเลือกข้างติดร่างแหสงครามการค้า สรท.มองเพิ่มโอกาสส่งออกไทยไปตลาดใหม่ "ปานปรีย์" ชี้นโยบายทรัมป์ กดดัน BRICS แข็งแรงขึ้น

ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสมาชิกรวม 9 ประเทศ ประกอบด้วย จีน รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย โดยมีประชากรรวมคิดเป็นสัดส่วน 39% ของประชากรโลก รวมทั้งมีมูลค่าเศรษฐกิจ 28.4% ของโลก หรือ 28.5 ล้านล้านดอลลาร์

ล่าสุดกลุ่ม BRICS ได้เพิ่มสถานะประเทศที่หุ้นส่วนรวม 9 ประเทศ คือ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไทย ยูกันดา อุซเบกิสถาน ขณะที่อีก 4 ประเทศยังไม่ตอบรับสถานะหุ้นส่วน คือ เวียดนาม แอลจีเรีย ไนจีเรีย และตุรกี

เว็บไซต์ Australian Institute of International Affairs เผยแพร่บทวิเคราะห์จากเมลิสสา คอนลีย์ และเวียต ดุงจินห์ ระบุ BRICS ก่อตั้งปี 2009 โดย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ ถูกมองเป็นกลุ่มเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ร่วมมือทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง จำกัดข้อได้เปรียบของสหรัฐในระบบการเงิน และการค้าโลก

การประชุมผู้นำ BRICS ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ 13 ประเทศรวมถึงไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม ถูกรวมเป็น “ประเทศหุ้นส่วน” นั่นหมายความว่า 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเพิ่มความร่วมมือกับ BRICS มากขึ้นเพื่อเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจ 

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จึงมักเลือกมีจุดยืน “ป้องกันความเสี่ยง” ด้วยการวางตัวเป็นกลางระหว่างสหรัฐกับจีน

จามิล กานี จากวิทยาลัยการต่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม (RSIS) โต้แย้งว่า “ทรัมป์ 2.0 อาจผลักให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หาช่องทางใกล้ชิด BRICS มากกว่าเดิม เพราะกังวลนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ”

\"ไทย\" หุ้นส่วน BRICS ลดเสี่ยงเศรษฐกิจ เตือนถูกเพ่งเล็ง สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า

ความกังวลนี้รวมถึงการที่รัฐบาลวอชิงตันไม่เข้าร่วมข้อตกลงพหุภาคีหลายฉบับ เช่น ความตกลงแบบครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ที่ใช้มาตั้งแต่วาระแรก เล่นงานประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ

ความกังวลเกี่ยวกับความผูกพันรับผิดชอบ และการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอินโดแปซิฟิกของสหรัฐ และความเป็นไปได้ที่ทรัมป์ จะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธ เป็นปัจจัยที่อาจผลักประเทศอาเซียนเข้าหา BRICS มากขึ้น สำหรับไทย และเวียดนาม การเข้าร่วม BRICS อาจช่วยสร้างความหลากหลายให้ตลาดข้าวมีทางเลือกป้องกันราคาข้าวผันผวน

ชาติอาเซียนคำนวณเชิงยุทธศาสตร์

นั่นหมายความว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ละประเทศที่กำลังมีส่วนร่วมใน BRICS มีเป้าหมายของตนเอง โดย มาเลเซีย ไทย และ อินโดนีเซีย อาจต้องการเป็นสมาชิกเต็มตัว ขณะที่เวียดนามใช้ท่าทีระมัดระวัง

ทั้งนี้ 3 ประเทศดังกล่าว จุดสนใจหลักอยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเงินทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนจากธนาคารการพัฒนาใหม่ (NDB) ของ BRICS ซึ่งตั้งขึ้นปี 2015 เพื่อจัดหาทรัพยากรให้สมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับมาเลเซีย การตัดสินใจเข้าร่วม BRICS สอดคล้องนโยบายต่างประเทศสร้างสมดุลสองมหาอำนาจของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ที่อ้างว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการค้าทำให้ต้องเข้าร่วม BRICS ในมุมนี้ในฐานะเป็นประเทศภาคพื้นสมุทร มาเลเซียสามารถเปิดช่องทางสำหรับการค้าการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐสมาชิก BRICS

ส่วนอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ต้องการเป็นมหาอำนาจโลกขนาดกลาง และเพิ่มอิทธิพลของตนในกลุ่มโลกใต้ การเข้าร่วม BRICS อาจช่วยให้เพิ่มข้อได้เปรียบในเวทีโลก โดยประธานาธิบดีซูเบียนโต ต้องการให้อินโดนีเซียได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก BRICS

ขณะที่ไทยก็คล้ายกันเข้าร่วม BRICS เพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ และการทูต ได้ประโยชน์จากการมีเวทีหลากหลาย 

กรณีเวียดนาม เข้าร่วม BRICS มีประโยชน์ในการทำนโยบายต่างประเทศแบบหลายทิศทาง และหลากหลาย ซึ่งรัฐบาลฮานอยยังรอดู เพราะไม่อยากเผชิญหน้าสหรัฐ และทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐ และสหภาพยุโรปเสียหาย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีมุมมองต่อ BRICS แตกต่างจึงอาจใช้เวลานานกว่าประเทศอื่น

\"ไทย\" หุ้นส่วน BRICS ลดเสี่ยงเศรษฐกิจ เตือนถูกเพ่งเล็ง สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า

“อัทธ์” คาดช่วยเพิ่มการค้าไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การเข้าเป็นสมาชิก BRICS จะทำให้ส่งออกเพิ่ม นำเข้าจะเพิ่มเช่นกัน และจะทำให้ดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้น 5-10% 

ทั้งนี้ หากดูมูลค่าปี 2023 พบว่าไทยส่งออกไปสมาชิกเก่าคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ มูลค่า 46,500 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า มูลค่า 60,500 ล้านดอลลาร์ ไทยขาดดุลการค้า 18,500 ล้านดอลลาร์ โดย 65 % ขาดดุลกับจีน 

ขณะที่ไทยส่งออกไปสมาชิกใหม่ อาร์เจนตินา อียิปต์ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย มูลค่า 5,700 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า 6,400 ล้านดอลลาร์ ไทยขาดดุลการค้ารวม 702 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขาดดุลกับซาอุดีอาระเบีย มากสุด และได้ดุลการค้ากับ อาร์เจนตินา มากสุด

นอกจากนี้จะเกิดห่วงโซ่การผลิตใหม่ และการลงทุน โดยไทยมีโอกาสไปลงทุน และสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตใหม่ใน BRICS เช่น ซาอุฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย ในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป และการเกษตรกรรม 

รวมถึงการลงทุนในโรงพยาบาล และธุรกิจสุขภาพ และสามารถซื้อน้ำมัน และปุ๋ยจากรัสเซีย ซาอุฯ UAE ในราคาถูก จะเป็นประโยชน์กับต้นทุนการผลิตภาคเกษตรกรรมของไทย ซึ่งผ่านมาไทยซื้อน้ำมันแพง ทำให้ต้นทุนด้านพลังงานแพง

นายอัทธ์ กล่าวว่า ด้านการลงทุน การเข้าร่วม BRICS จะดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากสมาชิกทั้งเก่า และใหม่ โดยเฉพาะการดึงทุนจากซาอุฯ และ UAE เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อส่งกลับไปตะวันออกกลาง 

รวมทั้งไทยเข้าถึงเงินทุนจากธนาคาร New Development Bank (NDB) ที่มีเงินทุนมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และลดการพึ่งเงินดอลลาร์ทำให้ค้าขายง่ายขึ้นจากการใช้สกุลเงินแต่ละประเทศ และระบบการโอนเงินทั้งของจีน (CIPS) หรือ รัสเซีย (SPFS)

อย่างไรก็ตามเมื่อไทยเข้าร่วม BRICS มีโอกาสถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสหรัฐภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ และมีโอกาสเพิ่มความขัดแย้งทางเศรษฐกิจไทย กับสหรัฐ และพันธมิตรสหรัฐ ซึ่งอาจจะพัฒนาไปเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น

การเป็นหุ้นส่วนของไทยไม่เฉพาะผลทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นผลทางการค้าระหว่างประเทศเช่นกัน แต่เมื่อประเมินผลได้ผลเสียแล้ว ไทยได้ประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการบริหารนโยบายระหว่างประเทศที่เหมาะสม เพราะ BRICS ไม่ได้เป็นความผูกพันทางกฎหมาย แต่ BRICS เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการพัฒนาประเทศสมาชิก”นายอัทธ์ กล่าว

ระวังไทยติดร่างแหขัดแย้งจีน - สหรัฐ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ไทยยังคงเป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ดังนั้นประโยชน์อาจไม่มาก แต่อาจทำให้ไทยมีเวทีมากขึ้นในการสื่อสารถึงปัญหา รวมถึงอัปเดตสถานการณ์ร่วมกับโลกได้ ส่วนผลบวกอื่นยังไม่ชัดเจนว่าได้ประโยชน์ด้านใด เช่น การค้าการลงทุน การเชื่อมระหว่างสมาชิก BRICS

อีกด้านที่ต้องระวังคือ โลกอาจมองว่าไทยเลือกข้างเพราะการเข้าร่วม BRICS มีบางประเทศเท่านั้น

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การเข้าร่วม BRICS มีความเสี่ยงถูกหมายหัวว่าด้อยค่าสหรัฐ เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่สหรัฐ และจีนมีประเด็นการค้า ทำให้การเข้าร่วมกลุ่มที่มีจีนอยู่ด้วย อาจทำให้ไทยถูกเหมารวมว่าเป็นพวกจีน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยง

“ความเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ โลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้นภายใต้ทรัมป์ การที่ไทยร่วมกลุ่ม BRICS อาจทำให้เสี่ยงมากขึ้นเหมือนติดร่างแหท่ามกลางคนทะเลาะกัน ดังนั้นต้องศึกษาผลดีผลกระทบให้ดีว่าได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน”

หวั่นไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐ

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเติบโตลดลง โดยการเติบโตอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่มากขึ้น ดังนั้น การที่ไทยจะเข้าร่วม BRICS อาจต้องการจับกระแสโลก ซึ่งเชื่อหากไทยใช้โอกาสนี้เข้าสู่การค้าใหม่จะเป็นโอกาสเติบโตของไทย โดยเฉพาะการพึ่งพาจีนหรืออินเดียที่มีกำลังซื้อมาก

แต่ปัญหาคือ การหาประโยชน์จากการเข้ากลุ่ม BRICS ให้ไทยได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เพราะปัจจุบันไทยเผชิญปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ดังนั้น ทำอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่น ขณะเดียวกันการเข้าร่วม BRICS ต้องระวังถูกสหรัฐเพ่งเล็ง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จะมีผลบวกต่อไทย นอกจากการเป็นสมาชิกกับกลุ่มสำคัญฝั่งตะวันตกแล้ว การกระชับความสัมพันธ์กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะในเอเชียเป็นสิ่งดีในการขยายธุรกิจ ขยายการลงทุน หรือความสัมพันธ์กับประเทศใหม่จากการอยู่ในกลุ่มสมาชิก BRICS จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกหลักไปสหรัฐ

อีกด้าน เชื่อในมุมผลกระทบ โดยเฉพาะการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐ ที่อาจมีผลต่อประเทศในภูมิภาค หรือสมาชิก BRICS ก็เชื่อว่าประเทศมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางเลี่ยงไม่ให้ถูกกระทบจากนโยบายของทรัมป์ได้

ผู้ส่งออกหนุนไทยร่วม BRICS

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าเป็นหุ้นส่วน BRICS เพราะเป็นโอกาสส่งออกเพิ่มโดยเฉพาะจีน และอินเดีย รวมทั้ง BRICS ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทย 18% โดยพิจารณารายประเทศ ดังนี้

1.บราซิล จะเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของไทย โดยสินค้าที่เป็นไฮไลต์ คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์ รวมทั้งจะได้อานิสงส์ย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ 

2.รัสเซีย พบว่าสินค้าที่ไทยจะส่งออกได้ คือ ยางล้อรถยนต์เช่นเดียวกับตลาดบราซิล

3.อินเดีย สินค้าหลักที่ส่งไปคือ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น่าจะเป็นตลาดรองรับหลังจากไทยส่งออกไปจีนน้อยลงลงจากปัญหาสงครามการค้า หากได้ตลาดอินเดียมารองรับเป็นเรื่องถูกต้อง 

4.แอฟริกาใต้ นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ ข้าว ซึ่งตลาดนี้ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยจากสินค้าที่กล่าวมาข้างต้น

“ปานปรีย์” มั่นใจไม่ถูกสหรัฐกดดัน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์รายการกรุงเทพธุรกิจ Deep talk ว่า ช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วางนโยบายด้านการต่างประเทศ 2 ด้าน คือ

1.การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) 2.การเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งมีสมาชิกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีความน่าสนใจเพราะมีประชากรมากที่สุดรวมอยู่ด้วย เช่น อินเดีย จีน

การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทย ไม่น่าจะทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ รู้สึกว่าไทยทอดทิ้งสหรัฐ เพราะไทยเองแสดงความชัดเจนในความสัมพันธ์ระหว่างไทย และสหรัฐ

รวมทั้งหากไทยไม่แสดงจุดยืนในส่วนนี้อาจทำให้นายทรัมป์ สงสัยได้ว่า ไทยให้ความสำคัญกับกลุ่ม BRICS มากกว่า เพราะในกลุ่ม BRICS มีการพูดถึงเงินสกุลใหม่ขึ้นมาแทนเงินสกุลดอลลาร์ ที่ปัจจุบันใช้ดอลลาร์ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันทั่วโลก

นายปานปรีย์ กล่าวว่า บทบาทของ BRICS ในระยะต่อไปนั้นมองว่า นโยบายของนายทรัมป์จะทำให้กลุ่ม BRICS มีความแข็งแรงขึ้นเนื่องจากหลายประเทศรู้สึกว่าประเทศของตัวเองจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะการขึ้นภาษี และนโยบาย “อเมริกาเฟิร์ส”

ทั้งนี้ในอนาคตการค้าการลงทุนตามนโยบายของทรัมป์จะกลับไปสู่ที่สหรัฐซึ่งทำให้หลายประเทศมีความรู้สึกว่า การลงทุนอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีจะย้ายกลับไปอยู่ที่สหรัฐทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนารู้สึกสูญเสียความมั่นใจ จึงเป็นแรงผลักให้เกิดการเกาะกลุ่มประเทศขึ้นใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศตนเองเดินหน้าต่อไปได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์