ดัชนีว่าด้วยการพัฒนาคน: HDI
บทความเรื่องก่อนหน้านี้ที่ผมได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 นั้น ผมได้เรียนอธิบายถึงสาเหตุที่เราไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า
ประเทศไทยมีความเหลื่อล้ำมากที่สุดทางด้านความมั่งคั่งตามที่เป็นข่าวครึกโครมไปก่อนหน้านั้นด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวเลขของสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% แรกในประเทศเมื่อเทียบกับการถือครองทรัพย์สินของคนทั้งประเทศ หรือแม้แต่ตัวดัชนีค่าสัมประสิทธิ์จินี่ตามที่เป็นข่าวนั้น ล้วนแต่เป็นตัวเลขที่แสดงค่าสัดส่วนที่เกิดจากการคิดเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ภายในประเทศเดียวกันเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังให้มากถึงข้อจำกัดของตัวเลขเหล่านี้หากเราจะนำไปใช้เปรียบเทียบในมิติระหว่างประเทศ เพราะว่าแต่ละประเทศจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความก้าวหน้าทางด้านวัตกรรรมและเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบต่อระดับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีหลากลายมิติของแต่ละประเทศด้วย
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเกิดคำถามขึ้นในใจแล้วว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะมีตัวเลขอื่นอะไรบ้างหรือไม่ที่จะช่วยให้เราสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลการเปรียบเทียบของปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือกันได้บ้าง
วันนี้ผมขอถือโอกาสนำเสนอตัวอย่างของดัชนีดังกล่าวที่สามารถใช้เปรียบเทียบในเชิงระหว่างประเทศเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีหลากหลายมิติได้ดีกว่าในกรณีที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งก็คือตัวดัชนีที่สะท้อนการพัฒนาของคน (Human Development Index : HDI) ซึ่งเป็นค่าดัชนีของประเทศต่าง ๆ ที่จัดทำโดยหน่วยงานหนึ่งในสหประชาชาติคือ UNDP โดยอาศัยแนวคิดของ อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ.1998 เกี่ยวกับการวัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีหลากหลายมิติ โดยที่ HDI จะเป็นผลของความพยายามในการคิดค้นหาค่าดัชนีของแต่ละประเทศที่คิดขึ้นมาจากการหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของค่าตัวสถิติที่จะสามารถสะท้อนโอกาสของประชาชนทั่วไปในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข บริการด้านการศึกษา และโอกาสการหารายได้และการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
เรื่องที่กล่าวถึงทั้งหมดเหล่านี้ด้วยเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการตัดสินใจทางการเมืองในการดำเนินนโยบายสาธารณะของแต่ละประเทศที่ดีในระดับหนึ่ง (แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม) และในปัจจุบันนี้ ได้มีการปรับปรุงค่า HDI นี้ให้สามารถสะท้อนภาพปัญหาในมิติของความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้นด้วยการปรับค่ามิติต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็น HDI ตัวเดิม โดยใช้ประกอบกับตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีการนำเสนอโดย Foster, Lopez-Calva and Szekely (2005) ผลที่ได้ก็คือตัวดัชนีใหม่ที่เรียกว่า ดัชนีว่าด้วยการพัฒนาคนที่ปรับด้วยค่าความเหลื่อมล้ำ (Inequality-adjusted Human Development Index : IHDI)
ทั้งนี้ค่า IHDI จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 โดยที่ประเทศที่มีค่า IHDI ที่สูงกว่าจะหมายถึงประเทศที่มีระดับการพัฒนาเรื่องคน (ที่ปรับด้วยความเหลื่อมล้ำแล้ว) ที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบนั่นเอง
ผลจากการศึกษาเรื่อง IHDI ของ สหประชาชาติ (UNDP) ในปี ค.ศ. 2017 ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 83 จากประเทศทั้งหมดเกือบสองร้อยประเทศ ซึ่งไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีค่า IHDI ในระดับที่สูง ส่วนกลุ่มประเทศที่มีค่า IHDI ในระดับที่สูงมาก ๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็ได้แก่ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เช่น นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมัน เป็นต้น และก็มีประเทศที่อยู่ใกล้เราติดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกันซึ่งคือ สิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีค่า IHIDI ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศไทยด้วย
ดังนั้น ผลการศึกษาดังกล่าวนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นชัดมากขึ้นว่า ประเทศไทยนอกจากจะต้องพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลางแล้ว เราก็ยังต้องพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการพัฒนาคน สังคม และปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ต้นแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีปัญหาที่เลวร้ายมากที่สุดก็ตาม
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมงานสัมมนาของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ที่ https://youtube.be/BrPhNsQV_cs
ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอถือโอกาสกล่าวคำ “สวัสดีปีใหม่” กับท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ