ข่าวดีSocial Enterpriseไทย
สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ดิฉันมีข่าวคราวในวงการกิจการเพื่อสังคมในบ้านเรามาอัพเดตกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข่าวดีต่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม
เรื่องแรกคือ เมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ลงมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของผู้มีรายได้น้อยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะเกิดประโยชน์กับคนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้กิจการเพื่อสังคมให้ได้รับการขยายตัวเพิ่มขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยกำหนดมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกำหนด
เท่ากับว่าบ้านเรามีกฏหมายรองรับกิจการเพื่อสังคมหรือSocial Enterpriseเรียบร้อยแล้ว และต่อไปกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากเข้าเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ก่อนหน้านี้อีกด้วยค่ะ
เรื่องต่อมาคือ ไม่เพียงแต่ สนช. จะผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้วเท่านั้น แต่หน่วยงานรัฐที่สำคัญอย่างเช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็เล็งเห็นว่ากิจการเพื่อสังคมนั้นเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้จัดการประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยกิจการเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด "การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม สู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน” (Advancing Social Enterprises for Realisation of SDGs in ASEAN) โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้บริหารสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ผู้บริหารบริติช เคานซิล ผู้แทนจากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านกิจการเพื่อสังคม ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามจำนวน13ประเทศ อันได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และนักวิชาการ รวมทั้งสิ้นกว่า300คน เข้าร่วมการประชุม
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณอภิชาติ อภิชาตบุตร ได้กล่าวรายงานว่า ทุกประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนการเกิดของประชากรลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และวัยแรงงานลดลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบสำคัญต่อความมั่นคงของมนุษย์ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีความเห็นร่วมกันว่า มาตรการเชิงป้องกันทางสังคม (Social Protection)สามารถช่วยลดปัญหาและผลกระทบทางสังคม ดังกล่าวได้ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการโดยรัฐบาลเพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกัน
สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายด้านสังคมที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ และการส่งเสริมการกระจายรายได้ โดยการขับเคลื่อนด้วยกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)เป็นกลไกสำคัญให้ภาคเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม
การประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยเรื่องกิจการเพื่อสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ประเทศในภูมิภาคได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านกิจการเพื่อสังคมร่วมกัน และตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของกิจการเพื่อสังคมในฐานะที่เป็นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาทางสังคมในการนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ คุณภาพชีวิตของคนและสภาพแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนให้มีความยั่งยืน โดยมีการเสวนาในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาดูงานกิจการเพื่อสังคมของประเทศไทย อาทิ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำกิจการเพื่อสังคม การสร้างอาชีพให้กลุ่มอดีตผู้ต้องขังและผู้ด้อยโอกาสและการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กลุ่มสตรีที่ขาดโอกาสทางสังคม และการส่งเสริมปศุสัตว์ในระบบอินทรีย์และระบบการค้าที่เป็นธรรม (หากมีโอกาสดิฉันจะนำตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมของไทยที่ว่านี้มาแบ่งปันต่อไปค่ะ)
เรื่องที่ดิฉันนำมาอัพเดตในวันนี้คงเป็นข่าวดีที่ทำให้พอเห็นภาพได้ว่า ประเทศไทยเรากำลังให้ความสำคัญในการผลักดันกิจการเพื่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเองค่ะ