‘พาวเวล/ทรัมป์’ กำลังดิ่งตามรอย ‘เบิร์นส์/นิกสัน’?
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายสำนักวิจัยของฝรั่ง รวมถึงเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐต่างคาดการณ์ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้
และอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปีหน้า ส่วนใหญ่จะมองว่าเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้รับการกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้นึกถึงสมัยที่ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ อาเธอร์ เบิรน์ส ที่ถูกอดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน กดดันให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปลายปี 1972 จนดัชนีหุ้นสหรัฐจะดิ่งเป็นระยะเวลายาวนานเกือบทศวรรษหลังจากนั้น และนั่นนับเป็นการดิ่งลงของดัชนีหุ้นสหรัฐที่รุนแรงและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ โดยทั้งสองเหตุการณ์มีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติ ดังนี้
หนึ่ง เหตุการณ์ที่ทั้ง 2 ประธานาธิบดีสหรัฐทำการบลัฟฟ์ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ทั้ง 2 ครั้งนี้ เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่ประธานาธิบดีประมาณ 18 เดือน โดยประธานาธิบดีนิกสันโน้มน้าวนายเบิร์นส เป็นระยะๆ ว่าให้ช่วยลดดอกเบี้ยเพื่อการเลือกตั้งใหญ่
ในขณะที่ทรัมป์ก็ทวิตเตอร์กดดันนายพาวเวลให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าขู่ว่าจะปลดออกจากตำแหน่ง กล่าวโจมตีว่าเฟดเดินหมากผิดที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนหน้า รวมถึงเปรียบเทียบสหรัฐกับจีนว่า สหรัฐเสียเปรียบจีน ที่ สี จิ้น ผิง ผู้นำจีน สามารถออกคำสั่งให้ธนาคารกลางจีนขึ้นหรือลดดดอกเบี้ยเพื่อให้ได้เปรียบสหรัฐได้ ในขณะที่ เฟดมิได้ทำเช่นนั้น ทางด้านนิกสันก็เป่าหูแบบทั้งปลอบและขู่ต่อประธานเฟด เบิรนส์เป็นระยะๆ ว่าเขาเองจะแพัการเลือกตั้งแน่ หากเฟดไม่ทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินให้เขาก่อนเลือกตั้ง
สอง ตัวเลขเศรษฐกิจของทั้ง 2 ช่วงเวลา ก่อนที่ทั้งเบิรนส์และพาวเวลจะลดดอกเบี้ยนั้น มีความคล้ายคลึงกันคือยังค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของจีดีพี รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อก็ถือว่าไม่ได้ต่ำแต่อย่างใด ดังรูปที่ 1 และ 2 โดยหากพิจารณาจากมุมมองเศรษฐศาสตร์แล้ว การลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดถือว่ายังไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารกลางแบบอนุรักษ์นิยมจะลงมือทำกัน โดยในยุคของ ‘เบิร์นส/นิกสัน’ การลดดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในทศวรรษที่ 70 กระชากขึ้นแบบไม่หยุด แม้ว่านายเบิรนส์จะพยายามขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐหลังเดือนพฤศจิกายน 1972 ก็ตาม โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก4.49% ในช่วงกลางปี 1972 ขึ้นไปเป็น 7.5% ในเวลาหนึ่งปีต่อมา
จนกระทั่งช่วงกกลางปี 1979 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐก็แตะตัวเลขสองหลัก จนพอล โวลค์เกอร์ อดีตประธานเฟด ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายชุดใหญ่ จนเศรษฐกิจสหรัฐสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ทว่าก็สะบักสะบอมไม่น้อยเช่นกัน
สาม ผู้นำสหรัฐและประธานเฟดทั้ง 2 ยุค มีความคล้ายคลึงกัน คือ ประธานาธิบดีสหรัฐมีความเป็นสายดาร์คในขณะที่ประธานเฟดทั้งสองยุค ค่อนข้างจะไม่กล้าที่จะหักดิบกับผู้นำสหรัฐ โดยทั้งนิกสันและทรัมป์ มีคดีความและถูกตั้งกรรมการตรวจสอบทั้งคู่ ด้วยความที่ชอบเล่นการเมืองแบบถึงลูกถึงคน โดยนิกสันโดนคดีวอเตอร์เกตส์จนต้องหลุดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนทรัมป์ถูกรายงานว่าด้วยการแทรกแซงจากรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2018 ของโรเบิร์ต มูลเลอร์ เล่นงานจนแทบจะไม่เป็นอันทำงานเมื่อนายมูลเลอร์ จะให้การณ์ต่อสภาผ่านการถ่ายทอดสดออกสู่สาธารณชน ส่วนทางด้านนายเบิรนส์และนายพาวเวล ทั้งคู่มาจากสายวิชาการโดยเบินส์เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ส่วนนายพาวเวลมาจากสายกฎหมายเพิ่งหันมาทำงานภาครัฐเมื่อกว่า 10 ปีก่อน จะเห็นได้ว่าคู่หูทั้งสองยุคต่างมีเบื้องหลังและนิสัยที่มีความซ้ำรอยกันอยู่ไม่น้อย
สี่ ตลาดหุ้นสหรัฐขึ้นไปสู่จุดที่สูงมากๆในช่วง 1 ปีเศษๆ ก่อนเลือกตั้งใหญ่ของทั้ง 2 ยุค จากรูปที่ 3 จะพบว่าในปี 1971 ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ได้ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดก่อนที่ตอนหลังเลือกตั้งปลายปี 1972 ที่ดัชนีหุ้นสหรัฐจะดิ่งเป็นระยะเวลายาวนานเกือบทศวรรษหลังจากนั้น และนั่นนับเป็นการดิ่งลงของดัชนีหุ้นสหรัฐที่รุนแรงและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
ในขณะที่ ปี 2019 ในช่วง 1 ปีเศษๆก่อนเลือกตั้งใหญ่ ดัชนีหุ้นสหรัฐทำ All-time high ตามที่ทรัมป์ได้คุยไว้ตลอดเช่นกัน และประธานเฟด พาวเวล ก็กำลังถูกทรัมป์กดดันให้ลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกับที่เบิรนส์ถูกนิกสันกดดันให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน คงต้องมาคอยลุ้นว่าตลาดหุ้นสหรัฐหลังปี 2020 จะดิ่งลงแบบรุนแรงและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับปี 1973 หรือไม่
ท้ายสุด ในด้านภาคต่างประเทศ ทั้งนิกสันและทรัมป์ ต่างก็ทำสงครามกับต่างชาติทว่าในสนามที่แตกต่างกัน ในขณะที่นิกสันพาสหรัฐเข้าสู่สงครามเวียดนาม ทว่าหันมามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ส่วนทรัมป์ก็พาสหรัฐเข้าสู่สงครามการค้ากับจีน ทว่าหันมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอลอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากเฟดลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ และอย่างน้อย 1 ครั้งในปีหน้าตามที่หลายสำนักวิจัยของฝรั่งคาดการณ์ไว้จริง มีความเป็นไปได้ว่าช่วงต้นปี 2021 เป็นต้นไป ตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสที่น่าจะเข้าสู่ขาลงแบบจริงจัง เช่นเดียวกับเมื่อปี 1973 ครับ