โครงสร้างประชากร ฐานคิดในการพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด
ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในทุกจังหวัดจะมุ่งหน้าไปสู่สังคมสูงวัยเหมือนกัน ทำให้ภาวะการพึ่งพิงมีมากขึ้น
เมื่อรวมกับการทำงานต่ำกว่าระดับของแรงงาน และการมีส่วนรวมในกำลังแรงงานแล้ว ภาระในการเลี้ยงดูเด็กเล็กและผู้สูงวัยจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของคนที่อยู่ในวัยทำงาน
การจะรับภาระนี้ได้ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานต้องมีผลิตภาพหรือความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้นมากกว่าแรงงานในปัจจุบันประมาณ 2 ถึง 2.2 เท่า และหากต้องการให้รายได้ต่อหัวของจังหวัดเพิ่มขึ้น ให้ผู้ทำงานมีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว คนที่จะเข้าสู่โลกของการทำงานในอีก 20 ปีหลังจากนี้จะต้องมีความสามารถในการทำงานไม่น้อยกว่า 2 เท่าของคนในปัจจุบัน
การจะทำเช่นนี้ได้มี 2 วิธี วิธีแรกคือเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อวันจาก 8 ชั่วโมงเป็น 16 ชั่วโมง แต่การทำงานหนักขนาดนี้ย่อมหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง จึงไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดี วิธีที่ 2 คือการเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อให้คนเก่งขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งดูแล้วมีความเหมาะสมมากกว่า
การจะตอบโจทย์ 1 คนเท่ากับ 2 คนให้ได้นั้นต้องรื้อกรอบคิดเรื่องการจัดการเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมด การสอนองค์ความรู้เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ทักษะในการหาองค์ความรู้และประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างแต้มต่อในชีวิตให้ตนเอง จะกลายเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของชีวิตการทำงาน นอกจากนี้แล้วการจัดการเรียนรู้ต้องถูกออกแบบมาให้สะท้อนทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ควบคู่ไปกับการสร้างความสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยยกระดับความเก่งในการทำงาน
ด้วยเหตุนี้ความหลากหลายของหลักสูตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ปกติ หลักสูตรทวิภาคี หลักสูตรทวิศึกษา และหลักสูตรในลักษณะอื่นที่มุ่งตอบสนองความต้องการของพื้นที่ นอกจากนี้แล้วผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ควรช่วยกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกช่วงวัยให้เหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดหรือพื้นที่อีกด้วย
ในปัจจุบัน ทุกจังหวัดยังมีปัญหาช่องว่างทักษะ แรงงานมีทักษะการทำงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐาน เช่น ความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา มีวินัย ขยันอดทน ทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน รวมไปถึงทักษะด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถทำงานได้ตามที่นายจ้างคาดหวัง ดังนั้น การวางแผนกำลังคนระดับจังหวัดจึงต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ให้มาก
การวางแผนกำลังคนสำหรับกลุ่มพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวสูง ควรให้ความสำคัญกับการสร้างคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรม ภาคค้าปลีกค้าส่ง ภาคบริการ และภาคท่องเที่ยว และภาคเกษตร ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกำลังคนที่มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการในภาคเศรษฐกิจเหล่านี้
การวางแผนกำลังคนสำหรับกลุ่มพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวระดับปานกลาง ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างคนเพื่อตอบสนองความต้องการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรม ภาคค้าปลีกค้าส่ง ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว
เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวสูง ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อให้มีความสามารถในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองได้ เพราะลำพังความต้องการจ้างงานของสถานประกอบการจะไม่เพียงพอในการดูดซับแรงงานทั้งหมดของพื้นที่ ทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่า แรงงานบางส่วนอาจมีการย้ายงานไปมาระหว่างภาคเกษตรหรือภาคเศรษฐกิจนอกระบบไปยังนอกภาคเศรษฐกิจอื่นระยะหนึ่ง แล้วย้ายกลับมาภาคเกษตรหรือภาคเศรษฐกิจนอกระบบอีก
สำหรับการวางแผนกำลังคนสำหรับกลุ่มพื้นที่ที่มีรายต่อหัวได้ต่ำ เนื่องจากในจังหวัดเหล่านี้ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ภาคอุตสาหกรรม ภาคค้าปลีกค้าส่ง ภาคบริการ และภาคท่องเที่ยวมีขนาดไม่ใหญ่นัก และสามารถดูดซับแรงงานได้เพียงประมาณ 10%ถึง 20% ของแรงงานทั้งหมด แรงงานส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจนอกระบบ การพัฒนากำลังคน จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกจังหวัดจะต้องมีเหมือนกันก็คือข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงาน มีการส่งเสริมให้และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลดังกล่าวในการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการด้านจำนวนและคุณลักษณะของแรงงานในพื้นที่
เพื่อให้ระบบการพัฒนากำลังคนสามารถช่วยเหลือคนในจังหวัดได้ทุกกลุ่ม จำเป็นต้องมีแนวทางการจัดการหลักสูตรสำหรับการสร้างแรงงานใหม่ หลักสูตรสำหรับแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงาน และหลักสูตรสำหรับแรงงานสูงวัย ที่แรงงานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานเหล่านี้สามารถยกระดับทักษะฝีมือของตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างหลักประกันว่าแต่ละจังหวัดจะมีกำลังคนมากพอสำหรับการแบกรับภาวะการพึ่งพิงที่เพิ่มขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้าได้