รถยนต์อัจฉริยะกับความรับผิดทางละเมิด
รถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Car) เป็นการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาผสมผสานกับรถยนต์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ให้เกิดความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยระยะแรกนั้นได้ออกแบบให้ระบบการทำงานหรือควบคุมหลักผ่านการทำงานจากการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดไว้ จนได้พัฒนามาสู่การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำการประมวลผลได้เอง
รถยนต์อัจฉริยะในปัจจุบันนี้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งปัจจุบันของรถเพื่อใช้สำหรับการติดตามค้นหาเมื่อรถหาย ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งของรถคันอื่นที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันหรือสวนทางมาเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหต ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งกีดขวางบนเส้นทางเคลื่อนที่ ทั้งที่อยู่กับที่และเคลื่อนที่เพื่อหลบหลีกและป้องกันการชน ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเส้นแบ่งบนเส้นทาง สัญลักษณ์หรือสัญญาณจราจรอื่น ๆ เพื่อให้รถยนต์วิ่งอยู่ในทางรถที่ถูกต้อง, ติดตั้งอุปกรณ์การสื่อสารระหว่างรถอัจฉริยะด้วยกันเพื่อที่อุปกรณ์เหล่านี้จะประมวลผล (Data Processing) เพื่อกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ และควบคุมการเคลื่อนที่ของรถยนต์โดยอัตโนมัติ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ความสามารถตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ยังคงต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ควบคุมหรือขับขี่เสมอ เพียงแต่เมื่อรถยนต์อัจฉริยะคาดว่าจะเกิดความเสียหายขึ้น ปัญญาประดิษฐ์ก็จะพยายามปัดป้องภยันตรายที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้วนั้น ผู้ควบคุมหรือผู้ขับขี่จะต้องรับผิดในผลแห่งความเสียหายตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
เมื่อพิจารณาในเรื่องความรับผิดทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(“ป.พ.พ.”) มาตรา 437 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
จะเห็นได้ว่าความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลในกรณีนี้คือรถยนต์อัจฉริยะ จะต้องรับผิดตามมาตรา 437 โดยมีองค์ประกอบในการรับผิดตามมาตรานี้ มีดังนี้ 1) มีความเสียหายเกิดขึ้น ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดแก่ร่างกายหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น 2) ความเสียหายนั้นเกิดจากพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หมายถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ เรือยนต์ สามล้อเครื่อง เป็นต้น โดยขณะเกิดความเสียหายพาหนะนั้นจะต้องเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลอยู่ด้วย (มีการทำงานของเครื่องยนต์อยู่) 3) ผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยผู้ครอบครองหมายถึงเจ้าของ ผู้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ส่วนผู้ควบคุมดูแลหมายถึงผู้ที่ขับขี่ในขณะที่เกิดความเสียหาย ดังนั้นบุคคลผู้ต้องรับผิดจึงมีได้เพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น ส่วนใครเป็นผู้ครอบครองหรือผู้ควบคุมดูแลนั้นจะต้องพิจารณาพฤติการณ์ที่เกิดความเสียหายขึ้น
เมื่อครบองค์ประกอบตามมาตรา 437 ผู้ขับขี่จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดอันเกิดจากรถยนต์อัจฉริยะ แต่ตอนท้ายของมาตรา 437 วรรคแรก ได้บัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดไว้ว่า หาก บุคคลผู้ต้องรับผิด (ผู้ขับขี่รถยนต์อัจฉริยะ) พิสูจน์ได้ว่าการเสียหายเกิดจาก “เหตุสุดวิสัย” หรือ เกิดเพราะ “เป็นความผิดของผู้เสียหายเอง” บุคคลนั้นก็ไม่ต้องรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ระหว่างขับรถยนต์อัจฉริยะเกิดเหตุการณ์วางระเบิดและได้ระเบิดบริเวณถนนที่ขับผ่าน ผู้ขับขี่หักหลบระเบิดชนรถยนต์คันที่ขับตามมาได้รับความเสียหาย ในกรณีนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ขับขี่รถยนต์อัจฉริยะไม่สามารถป้องกันได้ หรือ ในกรณีที่มีการกระโดดสะพานลอยฆ่าตัวตายลงมาใส่รถยนต์อัจฉริยะที่วิ่งบนถนน ผู้ขับขี่ก็สามารถอ้างข้อยกเว้นความรับผิดในเหตุที่ผู้เสียหายเป็นผู้ก่อขึ้นเองได้
เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของรถยนต์เพื่อให้สามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติซึ่งตามความหมาย “อัตโนมัติ” หมายถึง ระบบหรือกลไกที่สามารถทำหน้าที่ได้ด้วยตนเองโดยทำงานตามที่ได้โปรแกรมไว้
ระบบอัตโนมัติในรถยนต์อัจฉริยะที่เริ่มใช้แล้วมี 2 รูปแบบ คือ 1) รถยนต์ที่สามารถจอดรถเข้าที่จอดได้เอง (Automatic Parking Car) เป็นรถยนต์ที่มีระบบช่วยในการนำรถยนต์เข้าที่จอดรถโดยที่ผู้ขับขี่จะขับรถมาเทียบให้ได้ระยะการคำนวณของการนำเข้าที่จอดรถและกดปุ่มสั่งให้รถยนต์นำตัวเองเข้าที่จอดรถโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องควบคุมพวงมาลัย 2) รถยนต์ไร้คนขับ (Automatic Pilot Car) หรือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving Car) เป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองจากการที่ได้รับคำสั่งในการระบุเส้นทางที่ต้องเดินทางไปไว้ก่อนแล้ว ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ (ก) ผู้ระบุเส้นทางทำการโดยสารไปในรถยนต์ในฐานะผู้ควบคุมดูแล (ข) ผู้ระบุเส้นทางได้กำหนดเส้นทางจากห้องควบคุมและไม่ได้โดยสารไปในรถยนต์
นอกจากความรับผิดตามป.พ.พ.แล้ว ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการทำงานของระบบอัตโนมัติของรถยนต์อัจฉริยะอาจจะต้องพิจารณาความรับผิดตาม “พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551” (Product Liability Law) ประกอบด้วย พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในการเยียวยาความเสียหายในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตมีภาระการพิสูจน์ต่อศาลตาม “หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด” (Strict Liability) ส่วนผู้เสียหายหรือผู้มีสิทธิฟ้องคดีแทนเพียงแต่พิสูจน์ว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากสินค้าของผู้ประกอบการและการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดาเท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยร่วมกัน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการแต่อย่างใด ซึ่งจะสามารถให้ความคุ้มครองต่อผู้ใช้รถยนต์หรือผู้ได้รับความเสียหายจากรถยนต์อัจฉริยะได้ดีกว่าหลักการทั่วไปตามป.พ.พ.
โดย...
พรพล เทศทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์