ใช้ DW จัดการความเสี่ยงที่ไม่ปกติ
การลงทุนโดยปกตินั้นจะมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ เช่น ความเสี่ยงที่ว่าพรุ่งนี้ตลาดจะปรับตัวลงที่แนวรับแรกที่ 1%
หรือแนวรับถัดมาที่รุนแรงหน่อย 3% ความเสี่ยงตรงนี้เป็นเรื่องปกติในสภาวะตลาดหุ้นทั่วๆ ไป แต่ความเสี่ยงที่ว่าตลาดหุ้นจะลงอย่างรุนแรงมากๆ ถึง 10% นั้นไม่ใช่ความเสี่ยงที่ปกติ ความเสี่ยงประเภทนี้เราจะเรียกว่า Tail Risk ซึ่งมีการนิยามในเชิงสถิติ Tail Risk เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากแต่สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 การล้มละลายของบริษัทที่เชื่อกันว่า Too-Big-To-Fail อย่าง Lehman Brothers ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Tail Risk เพราะน้อยคนนักที่จะคาดการณ์ได้ถึงการปรับตัวลงอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ที่ตามมา และในปีนี้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ดัชนีหุ้นไทยลงไปแตะ Circuit-Breaker ถึง 3 ครั้งก็ถือว่าเป็น Tail Risk เช่นกัน
สำหรับนักลงทุนรายย่อยการปิดความเสี่ยงของ Tail Risk ทำได้ยากมาก เพราะถ้าจะกลัวความเสี่ยงนี้มากๆ ก็หมายถึงเราปิดโอกาสการทำกำไรไปเลย การที่จะเทรดหุ้นบนความกลัวที่ว่าบริษัทสถาบันระดับโลกจะล้มละลายในรอบ 10 ปี หรือการเทรดหุ้นบนความกลัวว่าจะมีการเกิดโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของโลกนั้นหมายถึงว่าเราจะไม่กล้าถือหุ้นเลย และก็จะพลาดกำไรจากตลาดหุ้นที่เป็นขาขึ้นในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
เมื่อความเสี่ยง Tail Risk เกิดขึ้น เครื่องมือทางการเงินในกลุ่มที่เป็น Options ซึ่งรวมถึง Derivative Warrant (DW) มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะในสถานการณ์ปกติที่ตลาดแกว่งตัวไปมาการเทรด DW อาจจะถูกมองแค่ว่าเป็นการเก็งกำไรบนราคาพรีเมียมขึ้นลงตามราคาหุ้นหรือดัชนี แต่นักลงทุนต้องอย่าลืมว่าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของ DW และ Options ที่เรามักจะได้ยินกันคือ “กำไรไม่จำกัดแต่จำกัดขาดทุนแค่ค่าพรีเมียม” ซึ่งเมื่อความเสี่ยง Tail-Risk เกิดขึ้น ราคาหุ้นปรับตัวลงแบบรุนแรงมาก คุณสมบัติจำกัดขาดทุนของ DW จึงมีความสำคัญขึ้นมาอย่างทันที แตกต่างจากการถือหุ้นหรือการถือสัญญา Futures ที่ยิ่งหุ้นลงการขาดทุนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ในวันที่ 12 มี.ค.2562 เมื่อดัชนีหุ้นไทยลงไปกว่า 10%จนแตะ Circuit-Breaker และทำให้มูลค่า Call DW ที่นักลงทุนถืออยู่นั้นบางตัวลงไปที่ 0 บาท และในวันต่อมาเมื่อเปิดตลาดมาดัชนีหุ้นไทยลงไปอีก 10% ทันที จะเห็นว่าราคา Call DW พวกนั้นก็ยังอยู่ที่ 0 บาทเหมือนเดิม การขาดทุนของนักลงทุนจำกัดอยู่แค่นั้นไม่ว่าตลาดจะลงไปอีกสักแค่ไหน ตรงข้ามกับกรณีที่นักลงทุนถือหุ้นหรือสัญญา Futures ที่จะขาดทุนเพิ่มไปเรื่อยๆ
นักลงทุนจะสังเกตได้ว่ากลไกจำกัดขาดทุนตรงนี้เป็นประโยชน์กับนักลงทุนในช่วงที่ตลาดมีโอกาสปรับตัวลงแรงมากๆ นั้น จริงๆ แล้วเป็นการผลักความเสี่ยง Tail Risk ไปให้ผู้ออก DW นั่นเอง เพราะไม่ว่าหุ้นจะปรับตัวลงไปแค่ไหนผู้ออกก็มีรายได้จำกัดอยู่แค่ค่าพรีเมียมที่นักลงทุนจ่ายในตอนแรกเท่านั้น จึงเป็นที่มาว่าในสถานการณ์ที่ผิดปกติ ผู้ออก DW จะประสบปัญหาขาดทุนได้แม้จะมีการบริหารความเสี่ยงแล้วผ่านการซื้อขายหุ้นอ้างอิงควบคู่ไปก็ตาม ยิ่งผู้ออกค่ายใดมี Market Share สูงและเป็นที่นิยมของนักลงทุนสูงยิ่งมีโอกาสขาดทุนสูงเพราะมีความรับผิดชอบต่อนักลงทุนที่สูงขึ้นตาม ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของผู้ออกตรงนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมเงื่อนไขในการอนุญาตเป็นผู้ออก DW จากหน่วยงานกำกับจึงให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับฐานะการเงินที่เพียงพอในการรองรับใช้สิทธิและดูแลผู้ลงทุน DW ได้อย่างไม่มีปัญหาในสภาวะที่ตลาดแกว่งตัวรุนแรง