Transitional Solution การเชื่อมต่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง

Transitional Solution การเชื่อมต่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้ร่วมเสวนากับ World Economic Forum ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ของประเทศไทย

การสัมมนาดังกล่าวเกี่ยวกับการที่ประเทศหนึ่งๆ พึ่งพาแหล่งพลังงานจากฟอสซิลน้อยลงอย่างไร และมีการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนมากน้อยเพียงใด โดยทาง WEF ได้พัฒนาดัชนี Energy Transition Index (ETI) เพื่อเป็นตัวเทียบวัดถึงขีดการพัฒนาของแต่ละประเทศ ประเทศไทยก็มีดัชนี ETI ที่ในระดับกลางๆ คือในอันดับที่ 53 ของโลก จากทั้งหมด 115 อันดับ

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาเป็นผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา Accenture คือ Stephanie Jamison, Senior Managing Director, Global Utilities Lead ได้เล่าถึงวิวัฒนาการของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากฟอสซิลสู่แหล่งพลังงานยั่งยืน

ในระยะแรกคือ การสนับสนุนการผลิตพลังงานจากแหล่งหมุนเวียน ซึ่งก็คือการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด สายลม แหล่งน้ำ และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากในระยะที่ผ่านมา ขณะที่หลายๆ ประเทศก็มีการพัฒนาแต่ยังตามหลังอยู่มากพอสมควร ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานยั่งยืนถึง 13% ซึ่งเป็นการผลักดันของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในอดีตผ่านมาตรการสนับสนุนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Adder หรือ Feed in Tariff เป็นต้น และคาดว่าจะมีสัดส่วน 30% ในปี 2580

จุดหมายปลายทางของแหล่งพลังงานยั่งยืนคือ การที่พลังงานผลิตจากไฮโดรเจนทั้งหมด โดยได้กำหนดนิยามไว้ว่า ถ้าเป็นไฮโดรเจนจากฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ ให้เรียกว่า ไฮโดรเจนสีเทา (grey hydrogen) หรือถ้ามาจากกระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture ที่ผมเคยเขียนถึงในตอน “คาร์บอนสีเขียว”เมื่อเดือน พ.ย.2561) แล้วนำมาแยกไฮโดรเจนผ่านกระบวนการทางเคมีนั้นคือ ไฮโดรเจนสีฟ้า (blue hydrogen)

แต่ที่ยั่งยืนที่สุดและเป็นเป้าหมายสูงสุดคือ การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนแยกไฮโดรเจน เช่น พลังงานแสงแดดหรือลม จึงเรียกว่า ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) แต่ถ้ายังต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิล หรือกระบวนการผลิตใดๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต้องมีการติดตั้ง carbon capture ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์มาหมุนเวียนแทนที่จะปล่อยไปในอากาศ

แต่กว่าที่เทคโนโลยีไฮโดรเจนและการดักจับคาร์บอนจะสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์คงใช้เวลาอีก 30-40 ปี การแก้ปัญหาระหว่างนี้ที่สำคัญจึงเป็นการสร้างความต่อเนื่องและความมั่นคงให้กับแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อที่จะทดแทนแหล่งพลังงานดั้งเดิมได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น

ในระยะที่สองหรือระยะการเชื่อมต่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน จึงให้ความสำคัญต่อการกักเก็บพลังงาน (energy storage) และการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า (smart grid) อันเป็นรอยเชื่อมต่อที่สำคัญที่จะตอบโจทย์เรื่อง climate change เนื่องจากโลกเราคงไม่สามารถที่จะรอจนเทคโนโลยีปลายทางแข่งขันได้ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมต่อจึงมีความสำคัญ

ผลจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศ เริ่มมีการอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะเดียวกันรัฐบาลนั้นๆ ก็ถือโอกาสที่จะเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ โดยในแวดวงพลังงาน เริ่มที่จะอัดฉีดงบประมาณเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มสถานีชาร์จรถอีวี สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

ประเทศไทยก็น่าจะถือโอกาสนี้ที่จะสนับสนุนพลังงานสีเขียวเช่นกัน แต่ถ้ามีข้อจำกัดทางงบประมาณ ประเทศไทยยังสามารถใช้กลไกตลาดและภาคเอกชนในการช่วยผลักดัน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการซื้อขาย green certificate หรือ renewable certificate และตลาดหลักทรัพย์สำหรับการซื้อขายคาร์บอนหรือ carbon credit trading ซึ่งจะเป็นกลไกเหมือนตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์ ที่ทำให้แหล่งเงินทุนกับธุรกิจแห่งอนาคตมาเจอกัน

โดยรัฐทำหน้าที่เป็นผู้เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure หรือ platform) ซึ่งมีอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรป ทำให้เราได้เห็นราคาของคาร์บอนที่ขยับตัวเติบโตอย่างมากหรือแม้แต่ราคาหุ้นของ Tesla ในระยะหลังก็เป็นตัวบ่งบอกอย่างดีถึงการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ

การกักเก็บพลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเชื่อมต่อรอยต่อนี้ และในบรรดาเทคโนโลยีที่มีอยู่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนน่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด นโยบายรัฐและสภาพแวดล้อมที่สำคัญเช่น trading platform จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถยกระดับ ETI ได้ และจะตอบคำถามของลูกหลานเราในรุ่นมิลเลนเนียมว่า เราช่วยเขาดูแลโลกอย่างไร

การสัมมนาประจำปีของบางจากฯ “Everlasting Battery” ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ จะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของแบตเตอรี่ในแง่มุมต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่สนใจเชิญลงทะเบียนเข้าฟังที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/bangchak2020 กันนะครับ