Cofact พื้นที่อาสาติดตามกรองข่าวลวงในยุคดิจิทัล
โคแฟค โครงการเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวันที่เชื่อในเรื่องพลังของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร
โครงการโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checking เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจ จากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวันที่เชื่อในเรื่อพลังของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร ด้วยการมีพื้นที่กลางในการให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงผู้รู้จริง เพราะบางครั้งข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย ดังนั้น ภาคประชาสังคมในประเทศไทยเราก็ต้องการสร้างพื้นที่กลางที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และ สร้างสรรค์ในการที่จะค้นหาความจริงร่วมกัน ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเต็มไปด้วยความเข้าใจผิด สับสนอลหม่าน จนบางครั้งยากที่จะเชื่อใครหรืออะไรได้
เมื่อกลางปี พ.ศ.2562 ภาคประชาสังคมในประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหาข่าวลวง หรือ International Conference on Fake News นำโดยภาคี ๘ องค์กร อาทิ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสัมมนาในครั้งนั้นได้ลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมร่วมกันด้วย อีกทั้งได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันคือคุณออเดรย์ ถัง มาเป็นวิทยากรคนสำคัญที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานของโคแฟคต้นแบบในไต้หวัน จากนั้นมาก็ได้มีการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือ จนนำมาสู่โครงการโคแฟคในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แนวคิดของโคแฟค เป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมือง (Civic Tech) กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้ อีกทั้งมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้ จากนั้นก็จะมีทีมเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และ สื่อมวลชนด้วย รวมทั้งพัฒนางานข่าวเชิงลึก เช่นมีข้อความที่น่าสนใจอันสืบเนื่องจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแสหรือที่มีความสนใจในเชิงนโยบายและประโยชน์สาธารณะในโครงการ Cofact Journalism
เบื้องต้นเราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คือ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Center for Humanitarian Dialogue (HD) Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) ซึ่งดำเนินการโดยทีม ChangeFusion และ Opendream มีภาคีผู้สนับสนุนเนื้อหาอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Wisesight รวมทั้งภาคีภาครัฐอย่างสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือพันธมิตรอย่างชัวร์ก่อนแชร์ รวมทั้งภาคีภาคประชาสังคมในท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และ องค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นต้น
เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัลคือ การทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าวหรือ Fact checker และ สร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยเปิดเวทีให้มีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลาย (Marketplace of Ideas) แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริง (Facts) และความคิดเห็น (Opinion) โดยเชื่อมั่นในวิจารณญาณของสังคม ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราไม่สามารถเชื่ออะไรได้เลย ก็ไม่เชื่อไว้ก่อนจนกว่าจะมีการสืบค้นข้อเท็จจริงจนประจักษ์ร่วมกัน ย่อมดีกว่าการเชื่อไปโดยไม่ไตร่ตรอง หรือ เชื่ออย่างมืดบอด
ดังคำพูดของคุณออเดรย์ ถังที่กล่าวไว้ในเวทีการประชุมที่กรุงเทพว่า “Blind trust is worse than no trust!” การเชื่ออะไรอย่างมืดบอดนั้นน่ากลัวกว่าการที่เราไม่เชื่อไว้ก่อน ดังนั้น มาร่วมกันค้นหาตรวจสอบความจริงยุคข้อมูลข่าวสารร่วมกับเรากันเถอะ เริ่มต้นจากเรื่องสุขภาพใกล้ตัวก่อน โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ที่คุกคามพลเมืองทั่วโลก ไวรัสที่มาพร้อมกับการระบาดของข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) เราได้รวบรวมบความไว้จำนวนหนึ่งแล้ว รอทุกท่านมาเป็นชุมชนคนโคแฟคร่วมกัน เพื่อสร้างสุขภาวะร่วมกันของสังคมผ่านทาง https://cofact.org/