ปัจจัยแพ้ชนะในการแก้วิกฤติโควิด-19

ปัจจัยแพ้ชนะในการแก้วิกฤติโควิด-19

ผมได้รับเอกสาร 3 ชุดที่นำประสบการณ์แก้ไขวิกฤติโควิด-19 ของประเทศทั่วโลกมาเปรียบเทียบกัน ศึกษาจุดแข็งจุดอ่อน เพื่อหาบทเรียนของการแก้ปัญหา

         วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องนี้ เพราะวิกฤติคราวนี้จะเป็นเรื่องยาวไม่จบง่ายๆ ทำให้จำเป็นต้องเข้าใจวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

บทความแรกเป็นของสถาบันโลวี่ (Lowy Institute) ประเทศออสเตรเลีย ขียนโดยนาย Stephen Dziedzic ที่ศึกษาข้อมูลเกือบ 100 ประเทศ เพื่อตอบคำถามว่าประเทศไหนและรัฐบาลแบบไหนทำได้ดีที่สุดในการตอบรับกับวิกฤติโควิด-19 พิจารณาจากข้อมูลการระบาด ระบบการเมือง ขนาดประชากร และการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลที่ออกมาคือ นิวซีแลนด์ เวียดนาม ไต้หวันและไทยติดท็อป 4 เรียงตามลำดับ ส่วนออสเตรเลียติดอันดับ 8 สหรัฐอเมริกาอันดับ 94 การศึกษานี้ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วยและให้ข้อสรุปหลายอย่างที่น่าสนใจ หนึ่ง ประเทศเล็ก ประชากรต่ำกว่า 10 ล้านคนจะทำได้ดีกว่าในการตอบสนองกับปัญหาเทียบกับประเทศใหญ่ เพราะคล่องตัวกว่า

            สอง ไม่เป็นความจริงที่ประเทศที่ปกครองแบบอํานาจนิยม จะบริหารวิกฤติโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพกว่าประเทศประชาธิปไตย ที่เห็นคือประเทศอำนาจนิยมอาจเริ่มต้นดีกว่า สามารถระดมทรัพยากรและตัดสินใจเรื่องล็อกดาวน์ได้เร็ว แต่จากนั้นจะแผ่ว คือไม่สามารถยืนระยะได้ ตรงข้ามกับประเทศประชาธิปไตยที่เริ่มต้นช้ากว่าแต่จากนั้นจะไปได้ดีกว่า โดยเฉพาะการแก้การระบาดรอบสอง แม้จะมีประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศที่ทำรอบสองไม่ดีเท่ารอบแรก เพราะมาตรการแก้ไขรอบสองอ่อนแอเทียบกับปัญหาที่มี

            าม ประเทศที่ได้คะแนนสูง อาจแตกต่างกันเรื่องระบบการเมืองที่แต่ละประเทศมี แต่ที่เหมือนกัน คือ ความเข้มแข็งของสถาบัน (Institutions) ที่รับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหา ขณะที่ความรวยความจนของประเทศไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะการแก้ปัญหาสามารถทำได้ด้วยวิธีพื้นๆ (เช่น ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง) แต่ต่อไปเมื่อวัคซีนเริ่มถูกนำมาใช้ ความสามารถในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศรวยและประเทศจนจะต่างกันมาก เพราะความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนต่างกัน

บทความที่สองเป็นของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ชื่อ “ที่ (Places) ที่ดีและแย่สุดในโควิด : วัคซีนยังไม่หยุดการเสียชีวิต” เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ให้ความเห็นว่า ที่ที่ควรอยู่ในแง่ประสิทธิภาพการแก้ไขวิกฤติโควิดพิจารณาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยสุดต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวันและจีนเป็นท็อปห้าประเทศ ส่วนไทยอยู่อันดับ 14 การจัดอันดับใช้ตัวชี้วัด 11 ตัว ซึ่งรวมการเข้าถึงและอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชากร ข้อคิดที่น่าสนใจจากบทความคือ

          หนึ่ง หลายประเทศในอันดับต้นๆ เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ได้คะแนนสูง แม้ยังไม่มีการฉีดวัคซีนในประเทศ ตรงข้ามกับประเทศ เช่น ยูเออีและอิสราเอลที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรสูง แต่อยู่อันดับที่ 11 และ 15 เหตุเพราะการระบาดรอบใหม่ยังมีอยู่ แม้ประชากรส่วนหนึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีน

           สอง มีความไม่แน่นอนมากว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แม้จะไม่ป่วยเพราะมีวัคซีนป้องกันอยู่ จะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่ชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอาจการ์ดตก ไม่ระมัดระวังในการใช้ชีวิต ทำให้การระบาดจะมีต่อไปอีก

          สาม ความสำเร็จในการแก้วิกฤติโควิดไม่ได้มาจากการสั่งการของภาครัฐ แต่มาจากความร่วมมือของประชาชนที่มีต่อมาตรการของรัฐ ซึ่งเป็นผลจากความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐ ดังนั้นการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพจึงสำคัญมาก และนิวซีแลนด์ถูกยกตัวอย่างว่าทำเรื่องนี้ได้ดีมาก

 บทความที่สามเป็นของกลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลประเทศไทย เขียนโดยคุณสายธาร หงสกุล พูดถึง 3 ปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของภาครัฐในการแก้ปัญหา

          หนึ่ง ระบบสาธารณสุขที่ครบวงจรและการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ ประเทศในเอเชียค่อนข้างเด่น

          สอง วินัยของประชาชน การเห็นประโยชน์ส่วนรวมเหนือสิทธิเสรีภาพส่วนตัว การให้ความร่วมมือกับมาตรการรัฐ การเสียสละเพื่อส่วนรวม เช่น ใส่หน้ากากอนามัย เหล่านี้ได้ช่วยควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย

           สาม ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หรือ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งทำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ที่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งชะลอการแพร่ระบาดในหมู่คนงานต่างชาติได้ ตรงกันข้ามถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ คือ การบังคับใช้อ่อนแอก็จะเป็นช่องโหว่ให้การระบาดกลับมาอีก ทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือในกลไกของรัฐ ไม่ร่วมมือ การควบคุมโรคก็จะยิ่งทำได้ลำบาก

 นี่คือข้อคิดจากสามบทความที่ผมคิดว่าตรงประเด็นและสำคัญต่อการแก้วิกฤติโควิดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผมเห็นด้วยทั้งหมด แต่ถ้าจะให้เลือกสามข้อว่าอะไรสำคัญสุดต่อการแก้ไขปัญหา พิจารณาจากประสบการณ์ของประเทศไทย ผมว่า 3 ข้อที่เป็นปัจจัยตัดสินความสำเร็จและความล้มเหลวของการแก้ปัญหาคือ

             หนึ่ง ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและระบบการช่วยเหลือทางสังคม (Social Safety Net) ความเข้มแข็งของทั้งสองระบบนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยให้ประเทศสามารถยืนระยะได้ในการต่อสู้กับปัญหา เพราะถ้าทั้งสองระบบดี การแพร่ระบาดก็จะสามารถควบคุมได้ และ ประชาชนไม่เดือดร้อนมาก แต่ถ้าดีเพียงระบบเดียว เช่น สาธารณสุข แต่ระบบการช่วยเหลือทางสังคมอ่อนแอ ประชาชนก็จะเดือดร้อนมาก แม้การระบาดจะพอควบคุมได้ เหมือนกรณีของเราในปัจจุบัน

             สอง ความร่วมมือของประชาชนในการแก้ปัญหา ปัจจัยนี้สำคัญสุด เพราะถ้าประชาชนไม่ร่วมมือ ปัญหาก็จะไม่มีทางแก้ได้ และความร่วมมือของประชาชนจะมาจากเรื่องเดียว คือ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการทำหน้าที่ของภาครัฐ

              สาม ธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ของภาครัฐที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในภาครัฐและพร้อมให้ความร่วมมือ ประเด็นนี้คือจุดเด่นสุดของนิวซีแลนด์ ที่ทำให้ประเทศสามารถแก้ไขปัญหาได้ดี ธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่มาจากการตัดสินใจของรัฐบาลที่มีเหตุมีผล เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม สามารถอธิบายได้และมีข้อมูลสนับสนุน รัฐบาลทำงานอย่างโปร่งใส สื่อสารให้กับประชาชนได้อย่างชัดเจน และรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีนอกมีในหรือตามน้ำในแง่ผลประโยชน์

 นี่คือการทำหน้าที่ของภาครัฐอย่างมีธรรมาภิบาล ที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาที่สำเร็จ ทำให้การแก้ปัญหายืนระยะได้ ไม่ใช่ดีตอนต้นแต่ล้มเหลวตอนจบ เป็นหัวใจของการดำเนินนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่เฉพาะวิกฤติคราวนี้ แต่เป็นหัวใจของการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม.