การมี‘ธรรมาภิบาล’สำคัญอย่างไร
การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือเรียกว่า ธรรมาภิบาล เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการประกอบกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ไม่ว่ากิจการนั้นจะเก่งขนาดไหน ผลการดำเนินงานก่อเกิดกำไรมากมายเพียงใด หากในการดำเนินงานนั้นขาดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี กิจการนั้น ๆ ก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนได้ เช่นเดียวกับการดำเนินงานของภาครัฐ หากขาดการมีธรรมาภิบาลที่ดีแล้ว การที่จะบรรลุความสัมฤทธิ์ผลในนโยบายด้านต่างๆ ย่อมเป็นไปได้ยากเช่นกัน
การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG) หมายถึงอะไร พูดแบบเข้าใจง่าย ๆ สั้น ๆ ก็คือ การคิดดี พูดดี ทำดี มีคุณธรรม มีความโปร่งใส เปิดเผย ไม่ว่าทำเรื่องใดล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ และต่อสังคมคนรอบข้างนั่นเอง โดยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับกิจการจดทะเบียน มีทั้งที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิจการให้ประสพความสำเร็จอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน สำหรับภาครัฐก็มีหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประกาศเป็นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๕ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ รวมถึงการนำไปปฏิบัติในแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของคณะรัฐมนตรีด้วย
แม้ว่าจะมีแนวปฏิบัติ CG กำหนดไว้หลายแห่ง ก็ยังคงมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดูเหมือนไม่มี CG ให้เห็นอยู่เนือง ๆ ในเรื่อง CG จะพบว่าแนวปฏิบัติเหล่านั้นจะคล้ายกันเพราะทุกภาคส่วนก็ล้วนแล้วแต่ยึดหลักแนวปฎิบัติเพื่อการกำกับดูแลที่ดีของ OECD ที่เน้นในเรื่องการมีกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความมีประสิทธิผลของการดำเนินงาน มีการปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน มีการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย มีการเปิดเผย โปร่งใส และคณะกรรมการต้องมีความรับผิดชอบ โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะปฏิบัติตามแนวปฎิบัติหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 5 หมวดของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วยังมี CG Code ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้วางหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการอีก 8 ข้อหลัก เพื่อเน้นย้ำความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทต่อการมี CG ที่ดีของกิจการ เรามาดูกันว่าแนวปฏิบัติที่กล่าวมานั้นมีหัวข้ออะไรบ้าง ซึ่งรายละเอียดท่านผู้อ่านจะหาอ่านเพิ่มเติมได้ในเวบไซต์ของ www.oecd.org หรือ www.setsustainability.com หรือ www.sec.or.th หรือ https://opdc.go.th
หลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีสําหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2555 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ
ประกอบด้วยหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ แบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่
- สิทธิของผู้ถือหุ้น ( Rights of shareholders)
- การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable treatment of shareholders)
- บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Role of stakeholders)
- การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and transparency)
- ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (Responsibilities of the Board)
เนื้อหาในแต่ละหมวดแบ่งเป็น 2 ส่วน
- ส่วนของหลักการ เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ ที่บริษัทจดทะเบียนควรปฏิบัติ
- ส่วนของแนวปฏิบัติที่ดี เป็นการให้รายละเอียดหรือวิธีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถปฏิบัติตามหลักการในส่วนแรกได้
หลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีสําหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 โดยสำนักงาน ก.ล.ต.
ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 คือ หลักปฏิบัติและหลักปฏิบัติย่อย
ส่วนที่ 2 คือ แนวปฏิบัติและคำอธิบาย
CG Code นี้ได้วางหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการบริษัท 8 ข้อหลัก ดังนี้
1) ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้น าองค์กรที่สร้างคุณค่า ให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน (Establish Clear Leadership Role and Responsibilities of the Board)
2) กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน(Define Objectives that Promote Sustainable Value Creation)
3) เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล (Strengthen Board Effectiveness)
4) สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร (Ensure Effective CEO and People Management)
5) ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Nurture Innovation and Responsible Business)
6) ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม (Strengthen Effective Risk Management and Internal Control)
7) รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล (Ensure Disclosure and Financial Integrity)
8) สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น (Ensure Engagement and Communication with Shareholders)
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
ได้กำหนดขอบเขตของคำว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และวางแนวทางในการปฏิบัติราชการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้ คือ
1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อเหตุการณ์
6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และ
7) มีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาและจัดทำเกณฑ์สำหรับใช้ในการสำรวจและประเมินระดับธรรมาภิบาลของส่วนราชการ โดยกำหนดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (GG Framework) ซึ่งประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ และ 10 หลักการย่อย ดังนี้
1) การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ประกอบด้วย หลักประสิทธิภาพ (Efficiency) หลักประสิทธิผล (Effective) และหลักการตอบสนอง (Responsive)
2) ค่านิยมประชาธิปไตย (Democratic Value) ประกอบ ด้วยหลักภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบ ได้ (Accountability) หลักความเปิดเผย/โปร่งใส (Transparency) หลักนิติธรรม (Rule of Law) และหลัก ความเสมอภาค (Equity)
3) ประชารัฐ (Participatory State) ประกอบด้วยหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) และ หลักการมีส่วนร่วม/การมุ่งเน้นฉันทามติ (Participation/Consensus Oriented)
4) ความรับผิดชอบทางการบริหาร (Administrative Responsibility) ประกอบด้วยหลักคุณธรรม/ จริยธรรม (Morality/Ethics)
จากหลักการข้างต้น ภาครัฐได้นำไปบรรจุในนโยบายการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยกำหนดไว้ว่า จะมีการจัดระบบอัตราบุคคลากรภาครัฐและค่าตอบแทนให้เหมาะสมเป็นธรรม ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะได้รวดเร็ว วางมาตรการทางกฎหมาย มิให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยง ประวิงเวลา หรือใช้อำนาจโดยมิชอบก่อให้เกิดการทุจริต เสริมสร้างระบบคุณธรรม มีการนำระบบพิทักษ์คุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานบุคคลของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ และจัดให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการมี ผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐทุกระดับ โดยถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ และเป็นเรื่องที่ต้องแทรกอยู่ในการปฏิรูปทุกด้าน ซึ่งหากภาครัฐปฏิบัติเข้มงวดได้ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ บ้านเมืองเราก็จะเป็นบ้านเมืองที่ได้ชื่อว่ามีธรรมาภิบาลที่ดี
*ผู้เขียน พรรณี วรวุฒิจงสถิต กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล