ผลกระทบจากระเบียบข้อบังคับ (Regulation) ต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลย
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีน เช่น Alibaba, Tencent, JD.com, Meituan, Pinduoduo
กำลังเผชิญกับประเด็นการออกกฎระเบียบเพื่อต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดกับ Ant IPO และ Alibaba Group นอกจากนี้ ยังได้มีการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มบริษัท FinTech ซึ่งได้สร้างความกังวลให้นักลงทุน และสร้างความผันผวนต่อการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีของจีนช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน ทั้งนี้ผมขอสรุปร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 ฉบับดังนี้
1) กฎเกณฑ์สำหรับบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยออนไลน์ (MLC Regulation) ธนาคารกลางจีนได้ออก Consultation Paper เพื่อกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่านบริษัท Fintech ต่าง ๆ โดยกฎเกณฑ์นี้ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องร่วมสำรองทุนไม่ต่ำกว่า 30% ของวงเงินปล่อยกู้ออนไลน์ สัดส่วนของการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ที่ร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์จีน และพันธมิตร 1 ราย ต้องไม่เกิน 25% ของทุนธนาคารสุทธิขั้นที่ 1 (net tier-one capital) และสัดส่วนการปล่อยกู้ออนไลน์ของธนาคารกับพันธมิตรทั้งหมดต้องไม่เกิน 50% ของยอดสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังห้ามธนาคารพาณิชย์จีนขนาดเล็กไม่ให้ดำเนินธุรกิจปล่อยกู้ออนไลน์ข้ามภูมิภาคอีกด้วย
2) แนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการผูกขาด (Anti-monopoly guidelines) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของรัฐบาลจีน (SAMR) ได้เปิดเผย กฎใหม่ในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีของจีน เมื่อ 7 ก.พ. 2564 โดยเน้นการกำกับพฤติกรรมการผูกขาด เช่น กำหนดให้บริษัท Internet ต้องจัดทำบัญชีอธิบายการใช้และแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้ เพื่อไม่ให้เก็บข้อมูลที่มีความหลากหลายและลงลึกในเชิงพฤติกรรมมากจนเกินควร จนทำให้สามารถครอบงำตลาดได้ นอกจากนี้ ยังห้าม eCommerce Platform ไม่ให้ตั้งราคาขายในกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันหรือกำหนดช่องทางการขายของผู้ค้า โดยผู้ที่ละเมิดกฎหมายนี้ อาจถูกบังคับให้ขายสินทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือเทคโนโลยี ออกมาอีกด้วย
3) เกณฑ์สำหรับธุรกิจ Online payment ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันการชำระเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่เผยแพร่เมื่อ 20 ม.ค. 2564 มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านการครอบงำตลาด บนรูปแบบการทำธุรกิจ online payment โดยบริษัทที่จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ คือ Alibaba และ Tencent เจ้าของบริการชำระเงิน Alipay และ WeChat Pay ตามลำดับ
ผมมีมุมมองว่า ในประเด็นเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อรายย่อยออนไลน์ ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินภายในครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นและช่วยเพิ่มเสถียรภาพในระบบ ทำให้กลุ่ม Fintech จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องเตรียมทุนสำรองเพื่อปล่อยกู้ออนไลน์มากขึ้น ถูกจำกัดสัดส่วนของสินเชี่อออนไลน์ และถูกจำกัดการให้บริการสินเชื่อข้ามภูมิภาค เช่น Ant Group มีการปล่อยสินเชื่อกระจายไปยังเมืองต่าง ๆ มากกว่า 200 เมือง รวม 2 ล้านล้านหยวน ดังนั้น กฏเกณฑ์ใหม่นี้จึงเพิ่มความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกดดันความสามารถในการทำกำไรของ Ant Group ให้ลดลง
สำหรับประเด็นเรื่อง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Antitrust และ Online payment ทางการจีนยังมีแนวโน้มเข้าควบคุมการผูกขาดของกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนต่อไปเช่นกัน เพื่อให้ตลาดเกิดการแข่งขันอย่างยุติธรรม และไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจต่อรองทั้งกับผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้ามาแข่งขันของบริษัทขนาดเล็กในตลาดมากขึ้น โดยบริษัทที่น่าจะได้รับผลกระทบหลักๆคือ Alibaba ซึ่งได้ถูกตรวจสอบในประเด็น “Anti-Monopoly” และ “Online Payment” โดยเฉพาะการผูกขาดสินค้าในธุรกิจ eCommerce จากการที่บังคับให้ร้านค้าเลือกแค่หนึ่งจากสองแพลตฟอร์มและลงนามในข้อสัญญาพิเศษเพื่อไม่ให้ไปขายผลิตภัณฑ์บน Platform ของคู่แข่ง ส่วน Tencent นั้น มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากในส่วนของ payment และ lending แต่ธุรกิจ eCommerce และ Weixin mini game ยังคงเติบโตได้ดี
กล่าวโดยสรุป ผลจากการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนบางแห่ง เช่น Alibaba และ Tencent ให้ปรับตัวลดลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดีสำหรับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนโดยรวมนั้น กลับมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุน หลังจากกฎระเบียบเรื่อง Antitrust และการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะช่วยลดความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจสำหรับบริษัทจีนที่ตกเป็นเป้าหมาย และช่วยหนุนหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ให้มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะถัดไป นอกจากนี้ในระยะกลางถึงยาว ทางการจีนยังมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้จีนเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี การออกแผนเศรษฐกิจ 5 ปี และแผนระยะยาวจนถึงปี 2035 เช่น การสนับสนุนด้านเงินทุน มาตรการจูงใจด้านภาษี สนับสนุน R&D ซึ่งจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น IT, อุปกรณ์ Hi Tech, 5G, Internet of Things, Big Data, และ AI อีกด้วย