การเรียนรู้ที่สูญเสียไป

การเรียนรู้ที่สูญเสียไป

สถานการณ์โควิดทำให้การเรียนการสอนในทุกระดับต้องปรับตัวกันอย่างมากมาย การเรียนรู้ผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นกลไกที่สำคัญและจำเป็น

      การเรียนผ่านระบบออนไลน์ก็มีข้อดีในบางส่วนแต่ขณะเดียวกันก็เริ่มมีเสียงสะท้อนออกมาในระดับสากลกันแล้วว่าการเรียนผ่านออนไลน์กลับทำให้เกิดการเรียนรู้ที่สูญเสียไป

        ผมได้มีการทำโพลเล็กๆ สอบถามนิสิตทั้งในระดับปริญญาตรีและโทที่สอนอยู่ถึงข้อดีและข้อเสียของการเรียนออนไลน์และพบว่า ส่วนใหญ่แล้วข้อดีจะเป็น เรื่องของความสะดวก การประหยัดเวลาเดินทาง สามารถเรียนได้จากทุกที่ การสามารถที่จะกลับมาฟังซ้ำ (กรณีผู้สอนอัดไว้) หรือแม้กระทั่งสามารถนั่งเรียนไปและทานขนมไปพร้อมๆ กันได้

        สำหรับข้อเสียของการเรียนออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ การขาดความกระตือรือร้นในการเรียนเนื่องจากนั่งเรียนอยู่คนเดียวหน้าจอไม่มีเพื่อนๆ ที่คอยสร้างบรรยากาศของการเรียน การทำงานเป็นกลุ่มที่ต้องเป็นออนไลน์ทำให้ขาดประสิทธิภาพ

           การขาดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและผู้สอน สมาธิที่หลุดง่ายมีส่ิงดึงดูดความสนใจมาก (เช่นเสียงดัง เตียงนอนหรือของกิน) ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำความเข้าใจและติดตามเนื้อหา

สุขภาพที่เสียไปเนื่องจากการนั่งจ้องจอนานๆ อินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร ซึ่งมีความเห็นกลุ่มหนึ่งซึ่งสรุปออกมาเลยว่า “ได้รับความรู้ไม่เท่ากับเรียนในห้องเรียน”

        ในมุมของผู้สอนนั้น จากประสบการณ์ของตัวเองและที่ได้สอบถามเพื่อนๆ อาจารย์ก็เห็นสอดคล้องกันว่า ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเครื่องมือและเทคนิคการสอนต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ ที่ทำให้การสอนออนไลน์น่าสนใจขึ้น (บรรดาผู้สอนจะถูกย้ำอยู่ตลอดว่าการสอนออนไลน์นั้น ไม่ใช่การนำวิธีการสอนแบบในห้องเรียนแล้วพูดใส่คอมพิวเตอร์แทน)

       แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าการขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน รวมทั้งการไม่ได้เห็นปฏิกริยาของใบหน้าและร่างกายอย่างชัดเจนก็ทำให้ไม่มั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนอย่างเต็มที่หรือไม่

        สำหรับในมุมของผู้สอนในระดับประถมและมัธยมศึกษานั้น ล่าสุดทางบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่มาจากการสอบถามบรรดาครูอาจารย์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

        และ สรุปออกมาเป็นพาดหัวที่ชัดเจนเลยว่า “Learning Loss is global and significant” และสรุปออกมาว่าการเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์นั้นไม่สามารถทดแทนการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ และผู้เรียนทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัว

        ตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงานของ McKinsey คือบรรดาครูทั้งหลายได้ประเมินออกมาว่าการเรียนรู้ผ่านออนไลน์นั้นทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนช้ากว่าเนื้อหาที่ควรจะเป็นหรือความรู้ที่ควรจะได้โดยเฉลี่ยถึง 2 เดือน หมายความว่า ในปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2564) ผู้เรียนกลับมีทักษะในการอ่านหรือแก้โจทย์คณิตศาสตร์เทียบเท่ากับที่ควรจะมีเมื่อเดือนมกราคมเท่านั้นเอง

      การเรียนรู้ที่ช้ากว่าเดิม 2 เดือนนั้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ยของหลายๆ ประเทศที่ได้สำรวจมา อีกทั้งค่าดังกล่าวยังแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความพร้อมทางเศรษฐกิจของผู้เรียนอีกด้วย

        การสูญเสียโอกาสการเรียนรู้ข้างต้นยังไม่นับโอกาสในการเรียนรู้ที่จะเกิดขี้นนอกห้องเรียน ทั้งกิจกรรมระหว่างผู้เรียน หรือ กิจกรรมที่สถานศึกษาจัดให้ ซึ่งล้วนสูญหายไปเนื่องจากการเรียนออนไลน์ และยังไม่นับปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากการที่ต้องนั่งเรียนอยู่คนเดียว ไม่ได้มีโอกาสพบเจอเพื่อนหรือสังคมกับบุคคลอื่น

       การสูญเสียโอกาสการเรียนรู้ ยังจะนำไปสู่ปัญหาความแตกต่างและเหลื่อมล่ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากความพร้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน (รวมทั้งความแตกต่างระหว่างโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล) ก็ส่งผลต่อทั้งโอกาส ความพร้อมและการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์

         ผลกระทบจากปัญหาการเรียนออนไลน์อาจจะยังไม่ส่งผลที่เห็นได้ชัดเจนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วเราจะพบว่าเด็กๆ ในรุ่นนี้จะไม่ได้มีพื้นฐานหรือความพร้อมทางวิชาการในระดับที่เป็นที่คาดหวัง

           และอาจจะต้องมี Reskill / Upskill บ่อยกว่าในอดีต รวมทั้งปัญหาความแตกต่างทางสังคมที่จะไม่หมดไปและอาจจะเพิ่มมากขึ้น.