เจ้าของกิจการสูงวัย ควรวางแผนรับมือ COVID-19 อย่างไร
เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วที่เราต้องเผชิญกับ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ถึงแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อจะดูน้อยลง
จนรัฐบาลเริ่มที่จะผ่อนคลายการ ล็อกดาวน์ ในวันที่ 1 ก.ย. นี้ สวนทางกับตัวเลขยอดผู้เสียชีวิต กับ ยอดผู้ป่วยหนัก ที่ไม่ลดลงเลย และด้วยโรคนี้ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาในปัจจุบัน ซึ่งมีครอบครัวของเพื่อนๆผม หรือคนใกล้ตัว มีประสบพบเจอกับความสูญเสียนี้ ซึ่งบางครอบครัว ผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว หรือเป็นผู้บริหารในกิจการนั่นๆ และเมื่อเกิดเหตุแล้ว หลายๆคนตกใจและทำตัวไม่ถูกกับการรับมือสิ่งที่จะเกิดตามมา วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาบอกเล่าให้ทุกท่านได้ลองวางแผน เพื่อป้องกันสิ่งไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นนี้ครับ
ในทุกวันนี้เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ ที่ถึงแม้จะระวังตัวดีมากแค่ไหน อยู่แต่บ้าน ก็ยังพบการติดเชื้อได้ และสำหรับเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารแล้วนั่น ในการทำงานต่างๆก็อาจจะยังต้องทำอยู่เพื่อบริหารให้ธุรกิจนั่นสามารถไปต่อได้ในช่วงเวลานี้ ทำให้บางท่านก็ยังต้องออกไปทำงานในแต่ละวันและพบเจอความเสี่ยงที่สูงแม้ว่าการป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมืออยู่บ่อยๆ ฉีดวัคซีน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้ ซึ่งวิธีที่ว่ามานี้นั้น เป็นวิธีป้องกันที่ช่วยลดความเสี่ยงลง แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่ลดลง หาได้เป็นศูนย์เสียทีเดียว ดังนั้น การวางแผนรับมือสำหรับเหตุไม่คาดคิด ก็เป็นสิ่งที่เหล่าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่มีกรรมการผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว ควรจะต้องวางแผนไว้เสียแต่เนิ่นๆ โดยหากกรณีผู้ประกอบการเสียชีวิตจาก โควิด-19 ละ จะเกิดอะไรขึ้น
หากกิจการนั้นมีผู้มีอำนาจลงนามเพียงคนเดียว คือ เจ้าของกิจการผู้ซึ่งเสียชีวิตไป จะทำให้ กิจการนั้น ไม่สามารถถอนเงินออกมาจากบัญชีนิติบุคคล ของกิจการได้เลย โดยธนาคารจะให้เหตุผลว่า ต้องให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้มีอำนาจลงนามคนใหม่เสียก่อน ซึ่ง การจะแต่งตั้งกรรมการได้นั้น จะต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นเสียก่อน ซึ่งจะสามารถทำได้หลังจากมีการแจกจ่ายหุ้นของกิจการนั้นให้กับทายาท โดยผู้จัดการมรดกเสียก่อน หรือหากเป็นบัญชีบุคคลทั่วไป หากจะนำเงินออกมา ก็ต้องให้มีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน
หากเป็น เหตุการณ์ปกติทั่วไป การรอคิวศาลในการตัดสินแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้นใช้เวลาไม่นานมากนัก ไม่เกิน 1 เดือน แต่จากเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้มีคดีตกค้าง อยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดหาก ยื่นคำร้องเข้าไปในเดือนก.ย. กว่าจะได้ขึ้นศาลก็คือช่วงเดือนพ.ย. และหลังจากที่ศาลแต่งตั้ง ผู้จัดการมรดกเรียบร้อยแล้ว ศาลก็จะนำคำสั่งศาลไปติดประกาศ เป็นระยะเวลาอีก 1 เดือนว่า จะมีใครมาคัดค้าน หรือไม่ หากไม่มี จึงจะสามารถนำคำสั่งศาลไปดำเนินการ เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม หรือ ทำเรื่องถอนเงินออกจากธนาคารได้ เบ็ดเสร็จ เป็นเวลาราวๆ 5-6 เดือน ทายาทของผู้ตายจึงจะสามารถ นำเงินออกไป หมุนกิจการได้
ระยะเวลา 6 เดือนที่ไม่มีเงินหมุนนี้ ธุรกิจจะอยู่อย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายพนักงาน จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อวัตถุดิบ จะเอาเงินที่ไหนไปผ่อนค่ารถ ค่าเครื่องจักร นี่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องวางแผน หากตนเองต้องมาจากไปจากโควิด-19 โดยเฉพาะหากธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่หาเลี้ยงครอบครัวทั้งครอบครัว
โดยต้องเริ่มจากการคำนวณก่อนว่า ความต้องการเงินหมุนต่อเดือนอยู่ที่เท่าไร แล้ว หากเป็น 6 เดือนจะต้องอยู่ที่เท่าไร นี่คือตัวเลขที่เราต้องคำนวณออกมา เช่น เราต้องใช้เงินหมุนเดือนละ 500,000 บาท หากเป็น 6 เดือน จะต้องมีเงิน ไม่น้อยกว่า 3,000,000 เป็นเงินฉุกเฉินที่ทายาทสามารถดึงออกมาใช้ในการประคองธุรกิจ
สำหรับเงินก้อนนี้อาจจะบริหารจัดการได้หลายรูปแบบเช่น ให้อยู่ในรูปของเงินสดเก็บไว้ที่บ้าน หรือ ที่โอนออกมาฝากไว้กับทายาท เป็นการชั่วคราว ซึ่งวิธีนี้ ข้อดีคือง่าย แต่ข้อเสียคือ จะต้องหาเงินก้อนมาพักเอาไว้เฉยๆเป็นเวลานาน หรืออาจะต้องมีการสื่อสารและวางแผนกันในครอบครัวถึงรหัส ATM หรือรหัสการเปิดตู้เซฟไว้เพื่อป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงและจำเป็นต้องใช้เงินสดเพื่อมาหมุนธุรกิจ วิธีที่สองคือการ เพิ่ม กรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัท และ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินจากบัญชีธนาคาร วิธีนี้นั้น ข้อดีคือ ไม่ต้องนำเงินมาพักไว้เฉยๆ แต่ ข้อเสียคือ ต้องหาผู้ที่ไว้ใจได้ มาเป็นกรรมการอีกท่านนึง และต้องใช้เวลานานในการทำเรื่องเพิ่มกรรมการ
และวิธีที่ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการส่วนใหญ่เลือกใช้นั่นก็คือ การทำประกันชีวิต โดยให้มีวงเงิน ครอบคลุมไม่น้อยกว่าเงิน ที่เราต้องใช้หมุนเป็นเวลา 6 เดือน หรือ ภาระหนี้สินที่ยังต้องผ่อน เช่นจากตัวอย่างก่อนหน้านี้นั้น อยู่ที่ 3,000,000 บาท โดยให้เลือกประกันชีวิตที่เน้นทุนคุ้มครองชีวิตสูง เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีวิต ,แบบยูนิตลิงค์ หรือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แทนที่จะเป็นแบบสะสมทรัพย์ เพราะจะมีค่าเบี้ยที่ถูกกว่าครับ ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตามทีกล่าวมาข้างต้น และไม่ว่าเหตุการณ์โควิด-19 จะเกิดกับธุรกิจของท่านหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งพื้นฐานเบื้องต้นที่ทุกธุรกิจควรคำนึงและวางแผนไว้ตั้งแต่ๆเนิ่นๆครับ