เข้าใจและยอมรับ ≠ สนับสนุน | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
“สังคมวาย (Y) เป็นสังคมที่น่าจับตามอง” เพราะมูลค่าทางการตลาดของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับชาว Y นั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
จากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นพอที่จะสรุปได้ว่า Y นั้นย่อมาจากคำว่า “Yaoi” ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า “ชายรักชาย (หนุ่ม Y)” ในขณะเดียวกัน Y ก็ยังเป็นตัวย่อของศัพท์ภาษาญี่ปุ่นอีกหนึ่งคำเช่นกันคือ “Yuri” ซึ่งหมายถึง “หญิงรักหญิง (สาว Y)” กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นน่าจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่จุดประกายสังคม Y ผ่านทางการ์ตูนและวรรณกรรมต่างๆ และแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
จากข้อมูลหลากหลายที่ได้รับการเปิดเผยแสดงให้เห็นว่า สังคม Y หรืออาจเรียกว่า วัฒนธรรม Y เข้ามาในประเทศไทยร่วม 10 ปีแล้ว โดยได้รับการเผยแพร่ผ่านงานแปลนิยายหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม Y แต่ก็ยังถือได้ว่าได้รับความนิยมในวงจำกัด
จากนั้นก็มีนักเขียนคนไทยจำนวนหนึ่งได้พยายามสร้างสรรค์วรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสังคม Y และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถือได้ว่า เป็นการช่วยขยายพื้นที่ของสังคม Y ในประเทศไทยให้กว้างยิ่งขึ้น จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญราวปี พ.ศ. 2557 วรรณกรรม Y ที่ถูกเขียนขึ้นโดยคนไทยได้รับการหยิบยกมาทำเป็นซีรีย์วาย (Y series) และฉายจริงบนหน้าจอโทรทัศน์
หลังจากนั้นซีรีย์ Y ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรม Y ก็เบ่งบานในสังคมไทยโดยได้รับการเผยแพร่ผ่านจอโทรทัศน์และแพลตฟอร์ม (Platform) ต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยิ่งกว่านั้นวัฒนธรรม Y ยังแพร่ขยายออกไปอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียจวบจนปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น สำนักข่าว CNN ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ได้รายงานข่าวภายใต้บทความข่าวชื่อ “The new Superman comes out as bisexual in an upcoming comic” ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า ในการ์ตูนซุปเปอร์แมน (Superman) เวอร์ชั่น (Version) ใหม่นี้ จะมีตัวละครเพศชายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมาเติมบทบาทความรักในรูปแบบชายรักชายระหว่างซุปเปอร์แมนและตัวละครตัวใหม่นี้
กล่าวได้ว่า เมื่อวัฒนธรรม Y ได้รับการเผยแพร่มากขึ้นในหลากหลายมิติ ย่อมส่งผลให้การยอมรับในเรื่องของเพศทางเลือกในสังคมไทยถูกยกระดับให้สูงขึ้น กลุ่มผู้บริโภคที่รับรู้และเข้าใจวัฒนธรรม Y มิได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่กลุ่มวัยรุ่นหนุ่ม Y และสาว Y เพียงเท่านั้น หากแต่ยังขยายวงกว้างไปยังกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่วัยรุ่น ซึ่งนั่นหมายถึงอำนาจซื้อ (Purchasing Power) ในสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น การขยายฐานอำนาจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เป็นที่จับจ้องของนักการตลาดอย่างมิอาจปฏิเสธ
ข้อมูลจาก www.marketingoops.com วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ระบุว่า มี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้จากฐานลูกค้าเพศทางเลือก ได้มากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ กล่าวคือ
1) อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศทางเลือกหรือความหลากหลายทางเพศ มักสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับผู้ผลิต
2) อุตสาหกรรมการ์ตูน จากผลการสำรวจของเจแปนโพล (Japan Poll) แสดงให้เห็นว่า ใน 500 แห่งของร้านขายหนังสือในเอเชีย การ์ตูน 5 อันดับแรกที่ขายดีที่สุดและมียอดตีพิมพ์สูง ล้วนเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคม Y ทั้งสิ้น ในขณะที่ 5 อันดับแรกของภาพยนตร์หรือซีรี่ย์ของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยม ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเพศทางเลือกทั้งหมด
3) อุตสาหกรรมทัวร์ (Tour) หลายบริษัททัวร์ในประเทศอินเดียต่างเร่งผลิตโปรแกรมทัวร์แบบพิเศษสำหรับเจาะตลาดกลุ่มเพศทางเลือกโดยเฉพาะ ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกลุ่มประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูง มีอำนาจซื้อมาก เพราะไม่ต้องมีภาระเรื่องครอบครัวและบุตร ในขณะที่กลุ่มประชากรเพศทางเลือกในประเทศจีน ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่บริษัททัวร์ต่างอยากได้เป็นลูกค้า
4) อุตสาหกรรมแต่งงาน ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้อย่างมากจากการใช้บริการของลูกค้าที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือก
ในกรณีของประเทศไทย เนื่องจากการยอมรับในความหลากหลายทางเพศนั้นมีมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมซีรีย์ Y ส่งผลให้นักการตลาดต่างต้องการจะนำสินค้าหรือบริการของตนไปผูกติดกับเนื้อหาของซีรีย์ รวมถึงการโฆษณาสินค้าหรือบริการของตน ที่เริ่มจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคม Y มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคที่เสพสื่อที่เกี่ยวข้องกับสังคม Y ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเยาวชน
ขอเน้นย้ำว่าบทความนี้ มิได้ต้องการนำเสนอเพื่อต่อต้านการเผยแพร่วัฒนธรรม Y ผ่านสื่อต่าง ๆ หากแต่กลับเชื่อเหลือเกินว่า การเผยแพร่วัฒนธรรม Y นั้นเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจและการยอมรับในความหลากหลายทางเพศให้เพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่งแล้วที่กลุ่มเพศทางเลือกจะต้องได้รับการยอมรับเสมอเหมือนกลุ่มบุคคลทุกกลุ่มในสังคม
แต่ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรม Y จะต้องไม่มีเจตนาที่จะชักชวนหรือชักจูงให้กลุ่มหลักที่เป็นผู้เสพสื่อ ซึ่งก็คือ วัยรุ่นที่ยังเป็นเยาวชนเลือกที่จะมีพฤติกรรมตามเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่เป็นทางเลือกหลัก กล่าวได้ว่าเรื่องดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งที่ทางภาครัฐ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันสร้างความสมดุล
เพราะข้อเท็จจริงก็คือ “การเข้าใจและยอมรับไม่เท่ากับการสนับสนุน”