Data Clustering วางแผนเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้ารายพื้นที่ | พงศ์นคร โภชากรณ์
การวางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้าเป็นรายกลุ่มคนและพื้นที่ นอกจากจะดูสถานการณ์และโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นรายจังหวัดแล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงอีก 2 ปัจจัยสำคัญ
สองปัจจัยสำคัญ คือ สัดส่วนคนจนต่อประชากร และความก้าวหน้าของคน การพัฒนาคน และคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดนั้น ๆ ด้วย จึงจะทำให้เราทราบจุดอ่อนของจังหวัดนั้น และสามารถกำหนดทิศทางและวางแผนได้อย่างตรงจุด นำไปสู่ Inclusive Growth ได้อย่างแท้จริง
ปัจจัยที่ 1 สัดส่วนคนจนต่อประชากร : ตัวเลขคนจนที่ประกาศโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เมื่อไม่กี่วันก่อน ระบุว่า ในปี 2563 จำนวนคนจนอยู่ที่ 4.75 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 ที่อยู่ที่ 4.33 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว ๆ 4.3 แสนคน ทำให้สัดส่วนคนจนต่อประชากรขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.2 เป็นร้อยละ 6.8 แต่หากไม่มีโครงการเยียวยาและเพิ่มกำลังซื้อ จำนวนคนจนในปี 2563 จะกระโดดเป็น 11.02 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านคน สูงกว่าสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่มีคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน
ฉะนั้น การดำเนินโครงการเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกโครงสร้างคนจนของปี 2563 จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรลดลงจากปี 2562 มีจำนวน 45 จังหวัด เช่น สระแก้ว สตูล ราชบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรเพิ่มขึ้นมีจำนวน 32 จังหวัด เช่น ปัตตานี อำนาจเจริญ พะเยา ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีความยากจนเรื้อรังในช่วง 10 ปีหลังสุด ตรงนี้เองที่ถือเป็นการบ้านที่ท้าทายอย่างมากในระยะต่อไป
ปัจจัยที่ 2 ความก้าวหน้าของคน การพัฒนาคน และคุณภาพชีวิตของคน : อีกตัวเลขหนึ่งที่เป็นตัวสะท้อนระดับการพัฒนาคนและคุณภาพคนในจังหวัดต่าง ๆ คือ ดัชนีความก้าวหน้าของคน หรือ Human Achievement Index (HAI) ซึ่งประกาศโดยสภาพัฒน์ฯ ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน พบว่า ในปี 2563 ดัชนี HAI มีคะแนนอยู่ที่ 0.6501 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 0.6457 ดัชนี HAI ประกอบด้วย 8 มิติ 32 ตัวชี้วัด ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยดัชนีในภาพรวมดีขึ้น จากมิติการศึกษา ชีวิตครอบครัวและชุมชน คมนาคมและการสื่อสาร ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และการมีส่วนร่วม ส่วนมิติที่แย่ลง ได้แก่ ชีวิตการงาน รายได้ ในขณะที่มิติสุขภาพเท่าเดิม
ฉะนั้น ในภาพรวมแม้ดัชนี HAI จะปรับตัวดีขึ้น แต่หากเจาะลึกโครงสร้างของ HAI รายจังหวัด จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่มีคะแนนลดลงจากปี 2562 มีจำนวน 23 จังหวัด เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีจำนวน 54 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น
ตรงนี้เองที่ถือเป็นการบ้านที่ท้าทายอย่างมากเช่นกัน เพราะการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งแผนข้อมูล แผนงาน แผนคน และแผนเงิน
ถ้าเราลองทำ “Data Clustering” แบบหน้าต่าง 4 ช่อง เพื่อช่วยวางแผนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้ Matrix 2 มิติ คือ ความยากจนและดัชนี HAI จะได้จังหวัดใน 4 ช่อง (ตามภาพ)
กล่องสีเหลือง : สัดส่วนคนจนลดลง แต่คะแนนความก้าวหน้าของคนกลับลดลง โจทย์คือ มุ่งเน้นไปที่ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดเหล่านั้นดีขึ้น แน่นอนว่าทั้ง 9 จังหวัดนี้ มีปัญหาในแต่ละมิติทั้ง 8 ด้านไม่เหมือนกัน ต้องเอา 8 ด้านนี้มากาง ดูว่าปัญหาคืออะไร หน่วยงานไหนควรจะเข้ามารับผิดชอบ
กล่องสีแดง : สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้น แถมคะแนนความก้าวหน้าของคนก็ลดลงด้วย กล่องนี้มีความซับซ้อนของปัญหามากขึ้นไปอีก โจทย์คือ ทำอย่างไรให้คนจนลดลง พร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตดีขึ้น บางจังหวัดอาจจะต้องเน้นการลงทุนจากภาครัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการบูรณาการทั้งแผนข้อมูล แผนงาน แผนคน และแผนเงิน ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องทำ Joint Objective Key Results (JOKRs) ในจังหวัด
กล่องสีเขียว : สัดส่วนคนจนลดลง และคะแนนความก้าวหน้าของคนเพิ่มขึ้น กล่องนี้อยู่ในสถานะที่ดีกว่ากล่องอื่น โจทย์คือ สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้คนจนเพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตแย่ลง
กล่องสีฟ้า : สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้น แต่คะแนนความก้าวหน้าของคนกลับเพิ่มขึ้น โจทย์กล่องนี้คือ มุ่งไปที่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างเดียว ต้องลงไปดูว่าอะไรทำให้เขาจน จนเรื้อรังหรือเพิ่งจนอันเกิดจากโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันวางแผนแก้จน หางานทำ เพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางการทำมาหากิน ในขณะเดียวกันก็ต้องบรรเทาภาระค่าครองชีพ มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือยัง พัฒนาทักษะอาชีพ กลุ่มนี้ก็ต้องอาศัยการบูรณาการทั้งแผนข้อมูล แผนงาน แผนคน และแผนเงิน เช่นกัน แต่อาจจะซับซ้อนน้อยกว่ากล่องสีแดง
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการเดิม ๆ แต่หวังจะได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด