From Hard landing to No landing
หลังจากสินทรัพย์ต่างๆ นั้นปรับตัวขึ้นได้ดีนับตั้งแต่ต้นปี แต่ในเดือนที่ผ่านมาภาวะการลงทุนนั้นกลับมาผันผวนอีกครั้ง
จากความกังวลด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในช่วงหลังจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนม.ค.ที่ออกมาในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ระดับ 6.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้น ยังคงออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่นตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่มากกว่าคาด อัตราการว่างงานยังอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1969 อาทิเช่นตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคผลิต และโดยเฉพาะภาคบริการที่กลับมาขยายตัวได้ดี ตัวเลขยอดค้าปลีกที่ยังขยายตัว
ทำให้นักลงทุนกลับมาวิตกอีกครั้งว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง และจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในท้ายที่สุด ซึ่งเริ่มเป็นที่คาดการณ์ในตลาดการเงินมากขึ้นว่า เฟดอาจจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงอีกครั้งในการประชุมรอบเดือนมี.ค.นี้
ข้อมูลจาก CME FedWatch tool ณ วันที่ 1 มี.ค. 2566 คาดว่ามีโอกาส 69.4% ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และมีโอกาส 30.6% ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งถ้าย้อนไปในช่วงเดือนต้นเดือนก.พ.นั้น โอกาสยังอยู่ที่ 0% สะท้อนว่ามุมมองของนักลงทุนในตลาดนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลลัพธ์ให้อัตราผลตอบแทน
พันธบัตรนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าเงินสหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าซึ่งก็ส่งผลต่อค่าเงินต่างๆ รวมถึงค่าเงินบาทนั้นผันผวนอย่างรวดเร็ว สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้น Growth ที่ปรับตัวได้ดีนับตั้งแต่ต้นปีเริ่มปรับตัวลงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามในมุมมองของ CIO จูเลียส์ แบร์ นั้นยังมองว่าจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งในสหรัฐฯ และรวมไปถึงยุโรปที่ราคาพลังงาน ณ ปัจจุบันนั้นปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวลงมาในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดสงครามรัสเซียยูเครนในปีที่แล้ว (2เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลงถึง 40%) สะท้อนว่ายุโรปไม่น่าจะเกิดวิกฤตด้านพลังงานแล้ว ขณะที่การเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาดก็ช่วยให้เศรษฐกิจจีนนั้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและจะส่งผลบวกต่อภูมิภาคอื่นๆ
โดยเฉพาะภาคบริการทำให้นักวิเคราะห์ของ จูเลียส์ แบร์ มีการปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้เป็น +1.9% จากที่คาดว่าจะโต +0.9% เศรษฐกิจยุโรป +1.1% จากที่คาดว่าจะโต +0.6% ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเรามีมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการต่อการเติบโตในระยะยาวที่อาจจะชะลอตัวได้ในปีหน้า เนื่องจากนโยบายการเงินที่ยังตึงตัวต่อไป โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ซึ่งคาดว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงในอีก 12 เดือนถัดไปจึงทำให้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าลงมา
กลับมามองที่ตลาดหุ้น จากมุมมองเศรษฐกิจข้างต้นทำให้เรายังคงคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นยังคงอยู่ในขาขึ้นรอบใหม่ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนต.ค.ในปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวที่รวดเร็วและสะท้อนปัจจัยบวกต่างๆไปมากแล้ว จึงทำให้ขาดปัจจัยบวกใหม่ และความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะยังกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น แต่เรายังคงมีมุมมองบวกในช่วงที่เหลือของปีที่ตลาดหุ้นยังมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง กลยุทธ์ยังคงเน้นในหุ้นคุณภาพดี
นอกจากนี้การลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ประการแรก คือเศรษฐกิจคลายความกดดันจากเรื่องพลังงาน ประการที่สอง ระดับราคา ณ ปัจจุบันแม้ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี Euro Stoxx 50 นั้นปรับตัวขึ้นมานับตั้งแต่ต้นปีถึง 11% มากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ที่บวก 2.6% แต่ระดับราคา หรือ Valuation นั้นยังคงถูกกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐฯ ในทุกๆ sectors โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปนั้น ยังคงถูกว่าสหรัฐฯ
ขณะที่กลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งท่าทีของ ECB นั้นยังคงที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน นอกจากนี้ธนาคารในยุโรปนั้นมีสภาพคล่องในระดับที่สูงทำให้มีการประกาศซื้อคืนหุ้นและจ่ายเงินปันผลอีกครั้ง
ประเด็นที่3 การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินยูโรมีการกลับลงมาอ่อนค่าอีกครั้งจึงเป็นจังหวะในการกระจายความเสี่ยงเพื่อถือครองเงินยูโร และมีโอกาสได้ประโยชน์เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าเหมือนในช่วงต้นปีอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่าน