ซูมอินความท้าทายของระบบธนาคารไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เผชิญกับความท้าทายมากมายหลังวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว
ทำให้การดำเนินธุรกิจปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติได้ค่อนข้างเร็ว สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้ แม้ในภาพรวมระบบธนาคารไทยจะมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเติบโตสนับสนุนเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและมีความท้าทายหลายด้านที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับ
สถานะและผลการดำเนินงานสะท้อนความแข็งแกร่งของระบบธนาคารไทย ในการเป็นกลไกสนับสนุนภาคธุรกิจให้เติบโต ซึ่งในไตรมาสแรกปี 2566 ผลประกอบการระบบธนาคารปรับดีขึ้น โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หนุนด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และสินเชื่อที่ขยายตัว แต่ไม่เป็นอัตราเร่ง โดยเฉพาะจากธุรกิจรายใหญ่ในภาคการเงินและพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565
โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารมีการบริหารจัดการหนี้เสียเชิงรุกและช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ในด้านสถานะความมั่นคงของธนาคาร พบว่า เงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยในปี 2566 สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัว ในอัตราชะลอลงจากผลของดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ที่เริ่มหดตัวในไตรมาสแรกของปี 2566
ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งมีการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อบุคคลขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเป็นแรงขับเคลื่อน แต่อาจมีแรงฉุดจากภาคการส่งออก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อ อีกทั้งระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเผชิญความท้าทายหลายด้านที่สำคัญ ได้แก่ การแข่งขันระดมเงินฝาก คุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลง กฎระเบียบใหม่ในการปล่อยสินเชื่อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือ Climate Change และมิติการแข่งขันด้านดิจิทัลที่สูงขึ้น
แนวโน้มการแข่งขันระดมเงินฝากยังคงมีต่อเนื่อง แม้ใกล้สิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น การแข่งขันด้านระดมเงินฝากเริ่มทยอยปรากฏขึ้นตั้งแต่ปี 2565 และยังคงดำเนินต่อเนื่องตามทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินที่ทยอยลดลงจากโมเมนตัมสินเชื่อที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดจนการรักษาฐานลูกค้าเงินฝากกลุ่มต่างๆ ตามนโยบายของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายเงินฝากส่วนหนึ่งไปสู่การลงทุนด้านอื่น ๆ
โดยเฉพาะตราสารหนี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจมีการออกหุ้นกู้มากขึ้นเพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินในช่วงจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารทยอยปรับตัวขึ้น สำหรับแนวโน้มเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 5% ณ สิ้นปีในปี 2566 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตราว 3.4% และเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อที่คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 1-2% ในปี 2566 การแข่งขันระดมเงินฝากจึงเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก ในขณะที่การส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวนี้ไปยังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมของลูกค้า
คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มเสื่อมถอยลง ภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หมดไป แม้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ยังคงเป็นการฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ กอปรกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบลูกหนี้กลุ่มเปราะบางบางกลุ่ม และทำให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะสินเชื่อจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ที่อาจเริ่มเห็นสัญญาณการขยับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อภาคธุรกิจ และธุรกิจรายย่อย ในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อและกลุ่มรายได้เปราะบาง ซึ่งอาจมีปัญหาการชำระหนี้จากแนวโน้มดอกเบี้ยขยับขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการไหลของสินเชื่อ Stage 2 ไปสู่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Stage 3) หรือNPL
การเตรียมเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ในการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับมาตรการ Climate Change ที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเผยแพร่หลักเกณฑ์การจัดกิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Taxonomy ในช่วงกลางปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ธนาคารเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลต่อแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในหลายด้าน อาทิ การจัดกลุ่มธุรกิจ พิจารณาสินเชื่อ จัดสรรเงินทุน การบริหารความเสี่ยงพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์และบริการรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ ซึ่งในปี 2567 คาดว่า ธปท.จะเริ่มมีการติดตามความคืบหน้าสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การนำความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายของธนาคารอาจก่อให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นความท้าทายในการเตรียมปรับตัวและบริหารต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
เตรียมรองรับมิติการแข่งขันด้านดิจิทัลที่สูงขึ้น โดยในช่วงต้นปี 2566 ธปท.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยความคืบหน้าล่าสุด ธปท.จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 นี้ ทำให้ Virtual Bank จะเกิดขึ้นในราวปี 2567-2568 หากมองในภาพรวมของระบบการเงิน การเกิดขึ้นของ Virtual Bank คาดว่าจะทำให้มีผู้ให้บริการใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นธนาคารเท่านั้น แม้ในช่วงแรก ธปท.จะอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ไม่เกิน 3 ราย แต่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาทั้งเงินฝากและสินเชื่อ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ธนาคารต้องเตรียมความพร้อมรองรับในลำดับต่อไป