เตรียมพร้อม “บ้าน” เพื่อผู้สูงวัยอยู่ดีและมีสุข
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งการปรับปรุง “บ้านธรรมดา” ให้กลายเป็น “บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)” เป็นเรื่องที่ง่ายและสามารถจับต้องได้ Smart Home จึงเป็นอีกทางที่จะช่วยสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย
ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไปและมีสัญชาติไทย) 20.9% หรือ 13.6 ล้านคน ณ สิ้นปี 2567 พร้อมกันนั้น ยังมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดภายในปี 2576[1] โดยประมาณการว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 28% หรือ 18.7 ล้านคน ปัญหาที่ตามมาพร้อมกับสังคมสูงวัยก็คือ การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ จากข้อมูลรายงานสายด่วน 1669 พบว่ามีผู้สูงอายุบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มเรียกและใช้บริการรถพยาบาลมากกว่า 50,000 ครั้ง/ปี เข้ารับการรักษาผู้ป่วยนอกมากกว่า 180,000 ราย/ปี รักษาตัวเป็นผู้ป่วยในราว 90,000 รายต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คน/ปี
“บ้าน” เป็นสถานที่ที่เราอาจคิดว่าปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุที่สุด แต่จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค การพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นภายในบ้านมีสัดส่วน 31% ส่วนใหญ่เกิดจากทั้งการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกัน ตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันได้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของ “บ้าน” ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุหรือผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
การเตรียมพร้อมบ้านโดยการปรับปรุงซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่
การเตรียมความพร้อมของบ้านสามารถดำเนินการได้หลายวิธีทั้งการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน รวมถึงการสร้างบ้านใหม่โดยมีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้
· การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงซ่อมแซมวัสดุข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้สูงอายุให้เหมาะสม กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เช่น
ในส่วนของรายละเอียดของคำแนะนำอื่น ๆ อยู่ในคู่มือการดำเนินโครงการการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ทั้งนี้ การพิจารณาว่าจะปรับปรุงซ่อมแซมบ้านส่วนใดก่อนหลัง อาจจะประเมินจากทั้งสภาพบ้านที่มีความเสี่ยงหรือความอันตรายมากที่สุดประกอบกับความพร้อมด้านงบประมาณ
รู้หรือไม่? : กรมกิจการผู้สูงอายุได้ให้สิทธิผู้สูงอายุสามารถยื่นขอเงินเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้านอยู่อาศัยได้ในอัตราเหมาจ่าย หลังละไม่เกิน 40,000 บาท โดยผู้สูงอายุที่จะมีสิทธิต้องเข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้
1) มีฐานะยากจน หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
2) ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
3) ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
* กรณีที่อยู่อาศัยและ/หรือที่ดินที่เป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นของผู้สูงอายุหรือทายาท ต้องอาศัยอยู่จริงไม่น้อยกว่าหนึ่งปีและได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธ์ให้ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
พม. มีเป้าหมายปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจำนวน 447,618 หลัง ภายในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) โดยดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 31,463 หลัง (พ.ศ. 2560 – 2566) คงเหลือ 416,155 หลัง
ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. (https://dop.go.th/) โทร. 02-659-6811
· การสร้างบ้านใหม่ ควรออกแบบบ้านหลังใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและการใช้ชีวิตในระยะยาว ปัจจุบันมีแบบบ้านที่ได้รับการออกแบบสำหรับผู้อายุโดยเฉพาะ และเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเว็บไซต์ แบบแปลนเพื่อประชาชน (https://office.dpt.go.th/construction/th/house-style-index) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอแบบบ้านต่างๆ รวมถึงแบบบ้านอยู่ดีวิถีใหม่ (บ้านผู้สูงวัย) ซึ่งประกอบด้วยบ้าน 3 ขนาด (เล็ก-กลาง-ใหญ่) เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำแบบไปใช้ในการสร้างบ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก การปรับปรุง “บ้านธรรมดา” ให้กลายเป็น “บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)” เป็นเรื่องที่ง่ายและสามารถจับต้องได้ Smart Home จึงเป็นอีกทางที่จะช่วยสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย
ตัวอย่างของเทคโนโลยี Smart Home มีดังนี้
นอกจากการเตรียมพร้อมบ้านที่ปลอดภัยแล้ว การมีประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุหรือประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยไว้ด้วยก็จะทำให้เราอุ่นใจมากขึ้น ในปัจจุบัน บริษัทประกันภัยหลายแห่งได้มีผลิตภัณฑ์ประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ โดยให้ความคุ้มครองทั้งการเสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุทั้งการบาดเจ็บเล็กน้อยและรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงอาจมีผลประโยชน์เพิ่มเติม เช่น กระดูกแตกหัก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ค่ารถเข็นผู้ป่วย เงินชดเชยรายได้ระหว่างเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เงินชดเชยการรักษาพยาบาลระยะยาวกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ฯลฯ สามารถซื้อได้เมื่ออายุมาก (เช่น 45-55 ปีขึ้นไป) และต่ออายุได้จนถึงอายุ 99 ปี
สำหรับประกันภัยบ้านอยู่อาศัยจะให้ความคุ้มครองภัยที่อาจเกิดขึ้นกับบ้าน เช่น ไฟไหม้ การระเบิดจากแก๊สหุงต้ม ภัยเนื่องจากน้ำ ฯลฯ โดยหากบ้านอยู่อาศัยมีการติดตั้งอุปกรณ์ Smart Home อาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ส่วนลดเบี้ยประกันภัย ความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์ Smart Home ฯลฯ อีกด้วย