กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา : บทเรียนจากออสเตรเลีย | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การศึกษาในระดับอุดมศึกษาถือเป็นการลงทุน แน่นอนว่าการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง หากผู้ลงทุนคิดว่าไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ก็เลือกจะไม่ลงทุน นั่นหมายความว่า หากต้องการให้คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ การมีเงินให้กู้เพื่อเรียนต่อเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ
การมีระบบการชำระหนี้ที่ลดความเสี่ยงลดภาระของผู้กู้ในการชำระหนี้ ในช่วงเวลาที่เขาประสบกับปัญหาด้านการเงินก็มีความสำคัญเช่นกัน
ระบบแบบนี้เรียกว่าการกู้ยืมที่การใช้หนี้ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (Income Contingent Loan หรือ ICL) ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์หลายประการด้วยกัน
1. ระบบนี้ช่วยให้คนที่ต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีเงินทุนพอ และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับคนจน หรือคนที่พอมีฐานะแต่ไม่ต้องการพึ่งพาเงินของครอบครัว
2. ผู้กู้มีสิทธิเลือกว่าจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไหน ซึ่งเป็นการกดดันให้มหาวิทยาลัย ต้องปรับปรุงคุณภาพการสอนของตัวเอง เพราะถ้ายังทำการสอนแบบขอไปที นักศึกษาจบออกมาหางานทำไม่ได้ หรือได้งานไม่ดี
นานไป สุดท้ายแล้วจำนวนนักศึกษาก็จะลดลง ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้ยาก ถึงจะไม่โดนปิด อย่างน้อยผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็ต้องร้อนๆ หนาวๆ ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ต่อสัญญาอีกหรือเปล่า
3. โครงสร้างของระบบถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่น จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระคืนเปลี่ยนแปลงไปตามระดับรายได้ ตอนไหนที่ชีวิตการงานก้าวหน้าได้เงินเดือนเยอะก็จ่ายมากหน่อย
ช่วงไหนดวงไม่ค่อยดีโดนลดเงินเดือนหรือตกงาน ก็ยังไม่ต้องจ่าย ซึ่งต่างกับการกู้เงินจากธนาคาร หรือเงินกู้แบบ กยศ. ที่ไม่ว่าจะรวยจะจนยังไงก็ต้องจ่ายคืนทุกเดือน
4. ระบบนี้ช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐบาลในระยะยาว ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ การศึกษาเป็นประโยชน์กับตัวผู้เรียนเองและสังคมรอบข้าง ดังนั้น ผู้เรียนเองควรจะรับภาระในการจ่ายค่าเทอมของตัวเองส่วนหนึ่ง และรัฐให้การสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งในอัตราส่วนที่เหมาะสม
แม้จะมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับอย่างมั่นคง แต่การนำมาปฏิบัติใช้ในประเทศต่างๆ นั้นประสบผลสำเร็จไม่เหมือนกัน "ออสเตรเลีย" ถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ โดยปัจจัยที่ทำให้กองทุนกู้ยืมของออสเตรเลียประสบความสำเร็จมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ
1. ออสเตรเลียกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินที่สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ในอนาคตของผู้กู้ โดยมีอัตราชำระหนี้เริ่มต้นที่ 1% ของรายได้ต่อปีและค่อยเพิ่มทีละ 0.5% ไปเป็น 1.5% 2.0% 2.5% ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 10%
การที่กำหนดอัตราการชำระหนี้ในปีแรกไว้ต่ำ ทำให้สามารถกำหนดฐานเงินเดือนเริ่มต้นในการจ่ายเงินคืนไว้ไม่สูงนัก จึงเริ่มเก็บเงินกลับมาได้เร็ว โดยที่ผู้กู้ไม่ได้รู้สึกว่าภาระการชำระหนี้กระทบกับรายได้มากจนเกินไป
นอกจากนี้แล้ว อัตราการชำระหนี้สูงสุดยังไม่เกิน 10% ของรายได้ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอทางวิชาการจากงานวิจัยในหลายประเทศที่พบว่า สำหรับเงินกู้เพื่อการศึกษาอัตราการชำระหนี้เงินกู้สูงสุดไม่ควรเกิน 10% ของรายได้
เมื่อเทียบกับกรณีกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ของประเทศไทยที่กำหนดอัตราชำระเริ่มต้นไว้ที่ 5% และสูงสุดที่ 12% จะเห็นได้ว่าเรายังสามารถปรับอัตราที่ใช้อยู่ให้เหมาะสมกว่าเดิมได้
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม ช่วยลดการเสื่อมค่าของเงินที่เก็บได้ในอนาคต ออสเตรเลียใช้วิธีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ เช่น ถ้าเงินเฟ้อ 3% อัตราดอกเบี้ยในปีนั้นก็จะเท่ากับ 3%
เพื่อป้องกันการเสื่อมค่าของเงิน ไม่ได้เป็นการคิดดอกเบี้ยเพื่อแสวงหากำไร กรอ.ก็ใช้แนวทางเดียวกัน ถือว่ามีความเหมาะสมดีแล้ว
3. มีระบบการจัดเก็บที่ดี ออสเตรเลียมีกรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพในการจัดเก็บไปพร้อมกับการเก็บภาษีรายได้ของผู้กู้ เพราะผู้ที่เรียนจบส่วนใหญ่ทำงานกับหน่วยงานหรือธุรกิจที่อยู่ในระบบ
กรณีของไทยที่ใช้สรรพากรจัดเก็บก็ถือว่าเหมาะสมในระดับหนึ่ง แต่ควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บผ่านหน่วยงานอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น ประกันสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ผู้เรียนจบส่วนหนึ่งรายได้ไม่ถึง 16,000 บาท ทำให้ไม่อยู่ในฐานภาษี หากปรับอัตราชำระหนี้ให้ลดลงควบคู่กับการหาช่องทางการจัดเก็บหนี้ที่เหมาะสมมาเสริม ก็จะช่วยให้เก็บหนี้คืนได้มากขึ้น
ในยุคที่ขีดความสามารถของประเทศขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของคน การออกแบบระบบการเงิน เพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เหมาะสมถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพาประเทศไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน