ประเทศที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่มักจะไม่ค่อยชอบในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และรู้สึกว่าของคนอื่นดีกว่า เหมือนที่สุภาษิตฝรั่งเขาว่าเอาไว้ว่า “สนามหญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าของบ้านเราเสมอ” (The Grass is always greener on the other side of the fence.)
เพราะสายตาเรา ความรู้สึกเราจะให้ค่ากับสิ่งที่เราเคยชินน้อยกว่าสิ่งแปลกใหม่ที่อาจจะเห็นชั่วครั้งชั่วคราว หรืออาจจะยังไม่เคยเห็นแต่มีคนบอกกล่าวมา
เวลาไปต่างประเทศ ดิฉันก็เคยรู้สึกอย่างนั้น ทำไมประเทศเขาสะอาดกว่า ทำไมรถเมล์เขาน่านั่งกว่าของเรา ทำไมการเดินทางสะดวก ทำไมสวนสาธารณะของเขาสวย ฯลฯ
ความประทับใจในเชิงบวกมักจะได้คะแนนไปสูง และพออยู่หลายวันเข้า หรือพอไปใช้ชีวิตเรียนหรือฝึกงาน หรือทำงานจริงๆสักพัก ความประทับใจในเชิงลบก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น เช่น ทำไมอาหารแพง อัตราค่าครองชีพสูง ทำไมอัตราภาษีสูงจัง ทำไมรถไฟเบียดเสียดขนาดนี้
ทำไมไม่มีใครยอมให้เข้าห้องน้ำฟรีๆ จะไปเข้าห้องน้ำในตึกต้องมีกุญแจไขด้วย วันหยุดไม่สามารถหาหมอได้เลยเชียวหรือ ประท้วงอะไรทำให้เราเดือดร้อนมาถึงสามวันแล้วยังไม่ได้กระเป๋า วันหยุดธนาคารตารางรถไฟเปลี่ยนไปด้วยหรือ เกี่ยวอะไรกัน ประท้วงอะไรทำให้ไม่มีเที่ยวบินกลับบ้าน ฯลฯ
ยูเอสนิวส์ (US News) ได้จัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือของ BAV Group กับ ศาสตราจารย์เดวิด ไรบ์สไตน์ จากคณะบริหารธุรกิจวาร์ตัน Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยจัดอันดับประเทศต่างๆ 85 ประเทศ จากการสำรวจ 17,000 คนทั่วโลกในช่วงกลางปี 2022
ดูจากปัจจัย 73 ปัจจัยที่บ่งชี้ถึงประเทศนั้นๆ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในประเทศสมัยใหม่ โดยแยกกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น การผจญภัย (มีความเป็นมิตร สนุก เหมาะสำหรับการท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่ดี ภูมิประเทศสวยและดึงดูดใจ) ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว เอื้อสำหรับผู้ประกอบการ (ต้นทุนการผลิตถูก ภาษีที่ไม่โหด ความเป็นราชการที่อีดอาด การคอร์รัปชั่น และความโปร่งใสของกระบวนการต่างๆของรัฐ) อิทธิพลทางวัฒนธรรม การขับเคลื่อน หรือเรียกว่าเป็น Mover (ความแตกต่าง โดดเด่น กระฉับกระเฉง มีเอกลักษณ์) การเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ อำนาจ จุดมุ่งหมายทางสังคม และคุณภาพชีวิต ฯลฯ
ซึ่งจากการจัดอันดับครั้งล่าสุดในปี 2022 ไทยเราอยู่อันดับที่ 28
เวลาเราจะเปรียบเทียบว่า ประเทศของเราดีหรือไม่ดี เรามักจะเปรียบเทียบเรื่องของคุณภาพชีวิต ดิฉันเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพลเมืองที่อยู่ในประเทศนั้นๆ จึงเจาะเข้าไปศึกษาว่าปัจจัยที่เขาใช้ในการจัดอันดับคุณภาพชีวิตประกอบด้วยอะไรบ้าง
จึงพบว่า มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้คือ ตลาดงานที่ดี ความสามารถในการครองชีพ (รายได้เพียงต่อความสามารถในการซื้อหาข้าวของและการครองชีพ) ความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความเป็นมิตรต่อครอบครัว ความเท่าเทียมทางรายได้ ความมีเสถียรภาพของการเมือง ความปลอดภัย การศึกษาภาครัฐที่ดี การสาธารณสุขภาครัฐที่ดี
1.สวิสเซอร์แลนด์ 2. เยอรมนี 3.แคนาดา 4. สหรัฐอเมริกา 5. สวีเดน 6. ญี่ปุ่น 7. ออสเตรีย 8.สหราชอาณาจักร 9. ฝรั่งเศส 10. เดนมาร์ก 11. นิวซีแลนด์ 12. เนเธอร์แลนด์ 13. นอร์เวย์ 14. อิตาลี 15. ฟินแลนด์ 16. สเปน 17. จีน 18. เบลเยียม 19. สิงคโปร์ 20. เกาหลีใต้ 21. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 22. ออสเตรเลีย 23. ไอร์แลนด์ 24. ลักเซมเบอร์ก 25. กรีซ 26. โปรตุเกส 27. บราซิล 28. ไทย 29. กาตาร์ 30.ตุรกี
รายงานฉบับนี้กล่าวถึงประเทศไทยในภาพลักษณ์เก่าๆว่า “เป็นประเทศหนึ่งที่มีคนไปเยี่ยมเยียนมากที่สุดในโลก แม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะมีสัดส่วนเพียง 7% ของจีดีพี (ในความเป็นจริงแล้วคือ 17.7%) ไทยมีชื่อเสียงในเรื่องการนวดแผนไทยและอาหารซึ่งมีรสชาดผสมผสานระหว่างรสหวาน เปรี้ยว เค็ม ขม และเผ็ด”
สิ่งที่ประเทศไทยได้คะแนนดีคือในด้าน การผจญภัย มาเป็นอันดับที่ 5 การขับเคลื่อน (Mover) มาอันดับที่ 6 มรดกทางวัฒนธรรมมาอันดับที่ 10 การเปิดกว้างสำหรับธุรกิจและเอื้อสำหรับผู้ประกอบการ มาอันดับที่ 13 อิทธิพลทางวัฒนธรรมมาอันดับที่ 24 แต่คุณภาพชีวิต และความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว มาอันดับที่ 35 ทั้งคู่ ส่วนความเป็นผู้ประกอบการกับอำนาจ มาในอันดับที่ 36 และที่รั้งท้ายคือ จุดมุ่งหมายทางสังคม ซึ่งมาอันดับที่ 46
สิ่งที่เราได้คะแนนต่ำที่สุดนั้น มีตัวแปรคือ การที่ประชาชนรู้สึกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมและเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งการได้คะแนนสูงในด้านนี้อาจหมายถึงการที่พลเมืองมีความสามัคคีกันและแบ่งปันจุดมุ่งหมายเดียวกัน หากเป็นในสมัยก่อนที่ดิฉันเป็นวัยรุ่น ประเทศไทยเคยมีคะแนนในด้านนี้ค่อนข้างดี
แต่เข้าใจว่ามาลดลงในช่วงหลังที่มีการแบ่งขั้วทางการเมือง และมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการพัฒนาที่มุ่งเน้นระบอบทุนนิยมค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันได้มีการดูแลในส่วนนี้มากแล้ว จนเมื่อต้นปี 2566 คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลังของเรา ได้รับรางวัล “รัฐมนตรีคลังแห่งปี ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” จากนิตยสาร The Banker ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศในช่วงโควิดได้อย่างดี และการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเปราะบางและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สำหรับคะแนนคุณภาพชีวิต อันดับที่ 35 นั้น ดิฉันเห็นว่า เราได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หากมองโดยรวม ดิฉันคิดว่าคุณภาพชีวิตของเราอยู่ในลำดับไม่เกิน 20 ของโลกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะด้านตลาดงาน ความสามารถในการครองชีพ ความเป็นมิตรต่อครอบครัวและการสาธารณสุขค่ะ คิดว่าผู้จัดทำการสำรวจยังใช้ข้อมูลเก่า และผู้ตอบแบบสำรวจยังติดอยู่กับภาพลักษณ์เก่าๆเมื่อ 10-20 ปีก่อนค่ะ เราต้องทำการประชาสัมพันธ์สิ่งดีๆให้โลกรู้มากขึ้น
เรามาถูกทางแล้ว เดินหน้าต่อค่ะ ต้องขึ้นไปอยู่อันดับที่ 20 ให้ได้ วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ อย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนะคะ