"ต้นทุนแฝง" เมื่อพนักงานไร้ใจให้องค์กร
ความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) เป็นเรื่องใหญ่และเป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ภายใน พนักงานที่อาจจะดูปกติมาทำงาน แต่เบื้องลึกแล้ว ความผูกพัน ความทุ่มเท และใจที่มีให้กับองค์กรอาจจะไม่เหลืออยู่ สามารถพบเจอได้ทั่วไป
จัดกลุ่มของพนักงานที่ไม่มีใจให้กับองค์กรออกเป็นสามกลุ่มใหญ่
1. กายอยู่แต่ใจไม่อยู่ - เป็นพนักงานที่มาทำงานเป็นปกติ ทำงานที่รับผิดชอบหรือได้รับมอบหมายได้เสร็จ แต่ขาดความกระตือรือร้นและความทุ่มเทให้องค์กร ไม่ได้ทำงานเพื่อให้องค์กรก้าวหน้า
พนักงานประเภทนี้จำนวนไม่น้อยที่จะทำงานไปสองอย่างพร้อมๆ กัน คือนอกเหนือจากงานหลักในฐานะพนักงานองค์กรแล้ว ยังมีงานเสริมในรูปแบบต่างๆ ทำให้ความทุ่มเทและใจที่มีให้กับองค์กรไม่เต็มร้อย พนักงานกลุ่มนี้จะยังไม่ได้กระตือรือร้นในการหางานใหม่ แต่เมื่อมีโอกาสดีๆ เข้ามาก็พร้อมจะไปได้ทุกเมื่อ
2. มีใจแต่ไม่ถูกที่ - เป็นพนักงานที่เมื่อเริ่มต้นทำงานก็มีใจเต็มที่ แต่ถูกมอบหมายงาน ที่ไม่ตรงกับทักษะ ความสามารถ หรือ ความสนใจ พนักงานกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่าองค์กรไม่เห็นถึงคุณค่าหรือความสามารถ
ใจที่มีก็จะค่อยๆ หดหายไปเรื่อยๆ ช่วงแรกอาจจะพยายามหาทางที่จะทำงานภายในองค์กรที่ตรงกับความสามารถและความสนใจ ซึ่งถ้ายังไม่ได้ สุดท้ายก็จะดิ้นรนหางานใหม่ที่คิดว่าตรงกับความสามารถและความสนใจมากกว่า
3. ไม่อยู่ทั้งปากและใจ - เป็นพนักงานที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่มีความพอใจและความผูกพัน อีกทั้งยังมีพฤติกรรม การแสดงออกที่เป็นด้านลบต่อองค์กร ทำให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกถึงพลังลบที่ถูกส่งออกมา ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานคนอื่น และเป็นกลุ่มที่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญและเวลากับการหางานใหม่
การที่พนักงานขาดความผูกพันและไร้ใจให้กับองค์กร เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากการสำรวจพนักงานทั่วโลกของ Gallup พบว่า 62% ของผู้ที่ถูกสำรวจมีความรู้สึกไม่ผูกพันกับองค์กร (ประเภทหนึ่งและสอง) และอีก 15% เป็นกลุ่มที่ไม่มีใจให้อย่างชัดเจน (ประเภทที่สาม)
ปัญหาการขาดความผูกพันของพนักงานเป็นต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น แต่เป็นต้นทุนที่มีมูลค่าไม่น้อยและสุดท้ายจะกระทบต่อผลการดำเนินงานขององค์กร ทั้งมาจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
การขาดการคิดไปข้างหน้า หาสิ่งใหม่ๆ ให้องค์กร การขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน บรรยากาศในการทำงานที่ติดลบ หรือ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อพนักงานลาออก การหาคนใหม่ การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานใหม่
สาเหตุที่ทำให้พนักงานไม่มีใจนั้นมีด้วยกันหลายประการ ได้แก่
1) ขาดการยอมรับและไม่เห็นถึงคุณค่า มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการมองเห็นหรือมีความสำคัญต่อองค์กร
2) ความเครียดในการทำงานและขาดเวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว
3) ความรู้สึกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ ไม่คุ้มกับความทุ่มเท ความพยายามและสิ่งที่ทำไป
4) งานที่ได้รับมอบหมายไม่ท้าทายและไม่ได้มีโอกาสในการเรียนรู้จากการทำงาน
5) มองไม่เห็นเส้นทางในการเติบโตและขาดโอกาสในการพัฒนา มองไม่เห็นว่าเมื่ออยู่กับองค์กรไปนานๆ จะมีโอกาสหรือช่องทางในการเติบโตอย่างไร
6) เจ้านายที่ไม่ดี โดยเฉพาะเจ้านายระดับต้น ทั้งจากการขาดทักษะในการสื่อสาร พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี รวมถึงขาดความรู้ ความสามารถในการทำงาน นำไปสู่การไม่ไว้วางใจเจ้านาย
7) ความโดดเดี่ยวในที่ทำงาน ขาดเพื่อน ขาดสังคมในที่ทำงาน ขาดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือขององค์กร
การแก้ไขปัญหาย่อมจะต้องพิจารณาจากสาเหตุทั้ง 7 ประการข้างต้น แต่ต้องแก้ไขที่ผู้นำในทุกระดับ และที่สำคัญคือผู้นำทุกระดับเองจะต้องมีใจและผูกพันกับองค์กรก่อน ถึงจะทำให้พนักงานมีใจและผูกพันไปด้วย.