'ก้าวไกล' ถ้าถูกยุบพรรค 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ยิ่งจบเร็ว?
ขณะหลายคนให้น้ำหนักความสนใจไปที่กระแสยุบพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 12 มิถุนายน หลังพรรคก้าวไกลขอขยายเวลาชี้แจงมาแล้ว 3ครั้ง กระทั่งส่งคำชี้แจงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะแถลงคำชี้แจงต่อสาธารณชนในวันที่ 9 มิถุนายน 2567
แน่นอน, ความน่าสนใจ ไม่เพียงคำชี้แจงของ พรรคก้าวไกล เท่านั้น หากแต่ถัดจากนั้น3 วัน ก็จะได้ความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะไต่สวนพยานเพิ่มเติม อย่างที่พรรคก้าวไกลคาดหวังหรือไม่ หรือ นัดฟังคำวินิจฉัยได้เลย?
โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมีการไต่สวนพยานเพิ่มเติมหรือไม่ มีเพียง 2ทาง ยุบ หรือ ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เท่านั้น
ทั้งนี้ “กกต.” (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีการเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีผู้ร้อง กกต. สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการ “เลิกการกระทำ” เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
ที่สำคัญ คำวินิจฉัยดังกล่าว ชี้ว่า นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค
แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการโดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคม การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง
“หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
นี่คือ ไม้ตายเอาผิดคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ซึ่งหลายคน แม้แต่คนในพรรคก้าวไกล ก็ยังหวาดผวาว่า ไม่รอดยุบพรรคแน่ แม้ว่าจะยังปลอบตัวเอง เพื่อสู้คดีจนถึงที่สุดก็ตาม
ส่วนการต่อสู้คดีของพรรคก้าวไกล เท่าที่จับทางได้ จากการที่แกนนำออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน ก็พอสรุปได้ว่า 1.กระทำโดยไม่เจตนา 2.ได้ส่งนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ กกต. ก่อนการรณรงค์หาเสียงแล้ว แต่ กกต.ไม่คัดค้าน 3.หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาที่ให้ยุติการกระทำ ทางพรรคก้าวไกล ก็ได้ถอดนโยบายแก้ ม.112 ออกจากเว็บไซต์แล้ว และ 4.พรรคก้าวไกลได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยแล้ว
สุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพรรคก้าวไกล ว่า มีน้ำหนักของพยานหลักฐานฟังขึ้นหรือไม่
ความจริง สิ่งที่พรรคก้าวไกล จะต้องเผชิญไม่แต่เฉพาะคดียุบพรรคเท่านั้น ที่เป็นผลมาจากเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112
หากแต่ กรณี 44 ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจเข้าข่ายความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษสูงถึงประหารชีวิตทางการเมือง หรือ เว้นวรรคตลอดชีวิต ก็นับว่าหนักหนาสาหัสทีเดียว
โดยมีผู้ร้องไปทาง “ป.ป.ช.” และกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
กระนั้น ถ้าเข้าข่ายผิดร้ายแรงก็อาจไม่ใช่ทุกคน เพราะถ้าฟังจาก นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีความคืบหน้าพอสมควร ซึ่งป.ป.ช. จะต้องมีการตรวจสอบเป็นรายบุคคลในเรื่องของเจตนา ไม่ใช่การพิจารณาแบบเหมาเข่ง โดยจะดูว่าแต่ละคนที่ลงมติ รู้หรือไม่รู้ในเรื่องเหล่านั้น มีการเล็งเห็นผลหรือไม่
มองในแง่ความคืบหน้าอย่างมากของคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” รวมถึงคดี 44 ส.ส.อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่แปลกที่หลายคนจะให้ความสนใจ เพราะเท่ากับว่า นี่คือความเป็นความตายของ พรรคก้าวไกลได้เลย แม้ว่า ทางออกหากพรรคถูกยุบ ส.ส.ยังสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ เหมือนกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ แล้วส.ส.ส่วนใหญ่ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล นั่นเอง จนมีกระแสความนิยมพุ่งสูงในชั่วไม่กี่ปี
แต่ก็อย่าลืมว่า หาก “ก้าวไกล” ถูกยุบพรรค และเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง 44 ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ ป.อาญา ม.112 แกนนำแถวสอง ที่สืบทอดเจตนารมณ์มาจากพรรคอนาคตใหม่ และส.ส.ที่หมายมั่นปั้นมือให้ขึ้นมามีบทบาทในพรรคและในสภาฯอีกหลายคน จะหายหมดเกลี้ยงทันที
โดยเฉพาะ 44 ส.ส. เมื่อตรวจรายชื่อแล้ว พบว่า เป็นทั้งกรรมการบริหารพรรค และส.ส. มีทั้งสิ้น 30 คน แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 10 คน ล้วนแต่ “เบอร์ใหญ่” ไล่ตั้งแต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงไป
แต่ประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามโดยเด็ดขาด เมื่อจับตาไปที่ความเป็นความตายของพรรคก้าวไกล นั่นคือฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “ทักษิณ ชินวัตร” พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เวลานี้ อยู่ในฐานะ “หัวหอก” ต่อสู้ทางการเมืองของ “ฝ่ายขั้วอำนาจ” อนุรักษนิยม ไม่ว่าจะอ้างสถานการณ์บังคับ หรือตั้งใจ “ดีล” กันเกิดขึ้นก็ตาม
ดังนั้น หากยุบพรรคก้าวไกล ผลพลอยได้ในทันทีทันใด ก็คือ ทำลายคู่แข่งทางการเมืองโดยตรง แม้ “ฆ่าไม่ตาย” เสียทีเดียว แต่ถือว่า “ตัดกำลัง” ลงไปได้มาก ทำให้ยากที่จะสรรหาตัวตายตัวแทน และใช้เวลาพอสมควร ในแง่นี้อาจทำให้ “ทักษิณ” พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล “เศรษฐา” หายใจหายคอได้บ้าง ในการสร้างผลงานทางการเมืองเพื่อขับเคี่ยวไล่ตามกระแสความนิยมพรรคก้าวไกล ที่ทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น(วัดจากผลโพลทุกสำนักที่ออกมา)
ขณะเดียวกัน “ทักษิณ” พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา ก็ใช่ว่า จะเดินตัวปลิว โล่ง โปร่ง ไม่มีอะไรขัดข้องในการสร้างกระแสนิยมและผลงานให้ประจักษ์เด่นชัด
หากแต่ “บ่วงคดี” ที่รัดคออยู่ ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ก้าวไกล” นั่นคือ คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง กรณี 40 ส.ว.ร้องผ่านประธานวุฒิสภา เอาผิด “เศรษฐา” และนายพิชิต ชื่นบาน พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายพิชิต) ทั้งที่รู้ว่า “ขาดคุณสมบัติ”ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะนี้แม้ ส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่า รอดพ้นเงื้อมมือศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ กรณี “ทักษิณ” ยังถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดี เนื่องมาจากทำผิดป.อาญา ม.112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนัดส่งตัวในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่กำลังกลายเป็นกระแสร้อน “สู้คดี” หรือ “หลบหนี” รวมถึงถ้าสู้คดี จะได้รับการประกันตัวหรือไม่
ทั้งสองเรื่อง ทำเอา “ทักษิณ” และรัฐบาลเศรษฐา ตกอยู่ในชะตากรรมลำบากทันที แม้ว่า ฉากหน้าจะแสดงออก ไม่มีอะไร แต่เบื้องลึกเบื้องหลัง การตั้งนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีนัยสำคัญให้เห็นถึงอาการดิ้นพล่านเป็นอย่างดี
อย่าลืมว่า ถ้าไม่นับ “ทักษิณ” ป่วยทิพย์หรือไม่ และได้รับการช่วยเหลือจากกรมราชทัณฑ์ ให้มารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจถึง 6 เดือน จนไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ก่อนได้รับ “พักโทษ”
กรณีหลังพักโทษ แล้วออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแรง ขัดกับข้ออ้างเพื่อให้เข้าเงื่อนไขพักโทษ(ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) เช่น ไปพบส.ส.พรรคเพื่อไทย ไปสงกรานต์ จ.เชียงใหม่ ไป จ.ภูเก็ต และ จ.นครราชสีมา โดยไม่ยี่หระต่อกระแสโจมตี ต่อต้าน และวิพากษ์วิจารณ์
นอกจากจะไม่ช่วยให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา กระแสนิยมดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดกระแสผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา ตามมาอีก ซึ่งรังแต่จะฉุดรั้งกระแสนิยมพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ดำดิ่งกว่าเดิม
อย่าลืม แม้ว่า “ก้าวไกล” จะแสดงบทบาทฝ่ายค้านไม่สมราคานักการเมืองรุ่นใหม่เท่าใดนัก และแทบไม่ได้แสดงฝีไม้ลายมืออะไรมาก ในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น รวมทั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และอดีตหัวหน้าพรรค ก็ทำได้แค่โชว์ตัว ลงพื้นที่โหนกระแส
แต่ปรากฏ ผลสำรวจโพลทุกสำนัก ต่างยกให้กระแสความนิยม “พิธา-ก้าวไกล” สูงลิ่วติดลมบน โดยเฉพาะ “พิธา” ทิ้งห่าง แม้กระทั่งเอา “เศรษฐา” มารวมกับ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เสียอีก นี่คือ สถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา จะต้องตระหนักเป็นอย่างสูง
แต่ก็อย่างว่า การที่จะสลัดความเป็นส่วนตัว “ทักษิณ” ออกจากพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่เดือดร้อนเรื่องนี้
เหนืออื่นใด ขนาดพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้กระแสสงสารเห็นใจ ที่ถูกการเมืองกระทำ ตั้งแต่ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ประธานสภา แถมยังมาถูก “ยุบพรรค” รวมถึง 44 ส.ส.ถูกเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงจนบางคนอาจต้องเว้นวรรคการเมืองตลอดชีวิต
ลองคิดดู แทนที่ “ยุบก้าวไกล” จะเป็นผลดี ผลบวกให้กับ “ทักษิณ” พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา กลับกัน อาจยิ่งซ้ำเติม ซ้ำร้ายกระแสนิยมที่ปลุกไม่ขึ้นอยู่แล้ว ให้หนักหนากว่าเดิมก็เป็นได้ จนแทบพูดได้ว่า “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” ก้าวไกล ก็ไม่มีประโยชน์อะไร กับ “ทักษิณ” พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา หรือไม่จริง?